วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561

064 Winita : นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์



นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

          นิภา แย้มวจี (2552) ได้กล่าวถึงสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ไว้ดังนี้  สื่อการเรียนการสอน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนในแต่ละคาบ
คุณค่าและประโยชน์ของสื่อการเรียนการสอน
          1. ช่วยให้ครูกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการตอบสนองตามที่คาดหวัง จะให้เกิดในตัวนักเรียน
          2. ช่วยให้ครูจัดประสบการณ์ให้ นักเรียนได้หลายรูปแบบเช่น ใช้เทปเสียง วีดีทัศน์ การสาธิต หรือ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นต้น
          3. ช่วยครูในการเพิ่มพูนประสบการณ์ ความรู้ให้แก่นักเรียน เช่น ทำรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ สไลด์ มาให้เด็กชม
          4. ช่วยครูจำลองของแทนของจริงที่ไม่สามารถนำมาให้ดูได้ เช่นการเดินทางของดวงจันทร์หมุนรอบโลก ลูกโลก
          5. ช่วยครูสื่อความหมายกับนักเรียนได้ดีขึ้น
การพิจารณาเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสม จะช่วยให้ผู้เรียนสนใจ สนุกสนาน และบรรลุวัตถุประสงค์
          1. ความเหมาะสม สื่อเหมาะกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์
          2. ความถูกต้อง สื่อช่วยให้นักเรียนได้ข้อสรุปถูกต้อง
          3. ความเข้าใจ สื่อช่วยให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
          4. เหมาะสมกับวัย สื่อมีความยากง่ายเหมาะสมกับระดับความสามารถ ความสนใจและความต้องการของผู้เรียน
          5. เที่ยงตรงในเนื้อหา สื่อช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้เนื้อหาที่ถูกต้อง
          6. ใช้การได้ดี เพื่อใช้สื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้
          7. คุ้มกับราคา ผลที่ได้คุ้มกับเวลา เงินและการเตรียม
          8. ตรงกับความต้องการ สื่อนั้นช่วยให้นักเรียนร่วมกิจกรรมตามที่ครูต้องการ
          9. ช่วงเวลา ความสนใจ สื่อช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจ ช่วงเวลานานพอสมควร
แนวทางการผลิตและเลือกสื่อการสอนหมวดวิชาคณิตศาสตร์
          วิชาคณิตศาสตร์ เป็นทักษะเชิงสติปัญญาที่ต้องใช้กระบวนการทางสติปัญญาสูงกว่าทักษะทางกายอื่น ๆ เนื้อหาสาระทางคณิตศาสตร์เป็นประสบการณ์นามธรรม สิ่งที่ผู้เรียนได้พบเห็นส่วนใหญ่เป็นสัญลักษณ์แทนจำนวน ผู้เรียนที่มีประสบการณ์น้อยจะมีปัญหาด้านนามธรรม การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ จึงมุ่งไปที่การสร้างสภาพการณ์และประสบการณ์รูปธรรม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจประสบการณ์นามธรรมดีขึ้น สื่อการสอนคณิตศาสตร์ จึงมีตั้งแต่วัสดุที่ใช้แทนจำนวนไปจนถึงสื่อที่สามารถแสดงให้เห็นกระบวนการทางคณิตศาสตร์ชั้นสูง เช่น แสดงการเกิดสมการทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ ในรูปของภาพยนตร์หรือเทปโทรทัศน์ เป็นต้น
การผลิตและเลือกสื่อการสอนวิชาคณิตศาสตร์ มีข้อคิด ดังนี้
          1. ต้องผลิตสื่อตามเนื้อหาที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว โดยกำหนดเป็นหน่วยที่แยกย่อยลงไปจนถึงหนึ่งหน่วยต่อการสอน 1 ครั้ง
          2. ควรผลิตและเลือกสื่อการสอนในลักษณะที่มีสื่อมาประกอบกันเป็นชุดการสอน 1 ชุด สำหรับการสอน 1 ครั้ง โดยมีชุดอุปกรณ์หรือ "KIT" ประกอบด้วย
          3. ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การสอนคณิตศาสตร์ทำไม่ได้เพียงด้วยการพูดให้ฟัง ดังนั้นจึงควรผลิตและใช้สื่อการสอนในทุกโอกาสที่จะทำได้
          4. การผลิตและเลือกสื่อการสอน ควรคำนึงถึงธรรมชาติของสื่อในการที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ รูปธรรมให้ ผู้เรียนมากที่สุด ทั้งที่เป็นสื่อที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น เมล็ดพืช ก้อนกรวด ก้อนหิน ฯลฯ และสื่อที่มีผู้ผลิตจำหน่าย เช่น ไม้บล๊อค หรือภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นการเกิดรูปทรงต่าง ๆ โดยเทคนิคการสร้างภาพเคลื่อนไหวเข้าช่วย
          5. การเรียนคณิตศาสตร์ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน การฝึกฝนแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จึงเป็นกิจกรรมที่ต้องบูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสื่อการสอนคณิตศาสตร์
          6. ก่อนผลิตและเลือกสื่อการสอนคณิตศาสตร์ ครูควรได้ศึกษาวิธีการจากระบบสื่อการสอนคณิตศาสตร์ที่มีผู้คิดขึ้นแล้ว เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตสื่อ


          Jutatip Deelamai (2557) ได้กล่าวถึงนวัตกรรมการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ดังนี้
ความหมายของ นวัตกรรมการศึกษา"
           “นวัตกรรม” หมายถึงความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำ นวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย
           “นวัตกรรม” (Innovation) มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมาความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม” 
          นวัตกรรมทางการศึกษา” (Educational Innovation) หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดิโอทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น
ตัวอย่างนวัตกรรมทางการศึกษาที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
          1. โปรเเกรม GSP ย่อมาจาก Geometeržs Sketchpad ยังเป็นของใหม่ในวงการศึกษาไทย แต่กว่า 60 ประเทศทั่วโลกเขาใช้กันแล้ว โดยแปลเป็นภาษาต่าง ๆ หากรวมภาษาไทยด้วยก็ 16 ภาษา 
          GSP เป็นโปรแกรมที่ครูสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์มีประสิทธิภาพและน่าสนใจมาก สามารถนำเสนอภาพเคลื่อนไหว (Animation) มาใช้อธิบาย เนื้อหาที่ยากๆ เช่น ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ (เรขาคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ แคลคูลัส), ฟิสิกส์ (กลศาสตร์ และอื่น ๆ) ให้เป็นรูปธรรม ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจง่าย และโปรแกรมยังเน้นให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ อย่างไม่มีข้อจำกัด 
          โปรแกรม GSP พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Key Curriculum Press ตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 และพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเวอร์ชัน 4.0 โรงเรียนต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาใช้โปรแกรมนี้สอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมากที่สุด และในหลายๆ ประเทศทั่วโลก อาทิ แคนาดา สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง เดนมาร์ก ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ได้ใช้โปรแกรมนี้อย่างแพร่หลาย ในส่วนของประเทศไทยนั้นได้ลงนามในพิธีครองลิขสิทธิ์การใช้ซอฟต์แวร์ GSP เวอร์ชัน 4.0  ณ โรงแรม อิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพมหานคร 
          โปรแกรมนี้ทำให้ครูและนักเรียนมีเวลาในการเรียนการสอนมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลานานในการสร้างรูป เรขาคณิตจำนวนมากเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีต่าง ๆ อีกทั้งยังทบทวนได้ง่ายและบ่อยขึ้น การสอนด้วยโปรแกรม GSP ยังทำให้นักเรียนเรียนได้สนุก เข้าใจได้เร็ว และน่าตื่นเต้น นอกจากนั้น การใช้ GSP สร้างสื่อการสอนและใบงาน ยังทำได้รวดเร็วและแม่นยำกว่าใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์ออฟฟิศอื่น ๆ 
          GSP สามารถสร้าง เกมสนุกๆ ทางคณิตศาสตร์ ได้มากมาย ดังที่ปรากฏในหนังสือ 101 Project Ideas for The Geometeržs Sketchpad ยกตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ จะได้สนุกกับการสร้างใบหน้าคนจากเส้นโค้ง เส้นตรง วงกลม สี่เหลี่ยม ที่แสดงอารมณ์ปกติและอารมณ์โกรธ และทดลองสร้างภาพด้วยตัวเอง นอกจากนั้น นักออกแบบโปรแกรม GSP ยังใช้สร้างแผนภาพ รูปร่าง รูปทรงสามมิติได้มากมาย 
          2. โปรแกรม Science Teacher’s Helper (โปรแกรม แก้ไข สูตรคณิตศาสตร์ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์) เป็นโปรแกรมแก้ไข สูตรคณิตศาสตร์ หรือแก้ไข สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ เป็นโปรแกรม Add-On สำหรับ Microsoft Word มันถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้นครับ คือ ช่วยคุณประหยัดเวลาในการเขียนหรือแก้ไข สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์, เคมีและฟิสิกส์ในเอกสาร คุณสามารถที่จะ แก้ไข สูตรคณิตศาสตร์ ใส่ฟังก์ชันถึง 1200 ฟังก์ชันได้อย่างง่ายๆ กราฟหรือชาร์ตทางฟิสิกส์, เคมีและคณิตศาสตร์ลงในเอกสาร MS Word
          3. E-Learning  คำว่า e-Learning คือ การเรียน การสอนในลักษณะ หรือรูปแบบใดก็ได้ ซึ่งการถ่ายทอดเนื้อหานั้น กระทำผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ซีดีรอม เครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต เอ็กซทราเน็ต หรือ ทางสัญญาณโทรทัศน์ หรือ สัญญาณดาวเทียม (Satellite) ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งการเรียนลักษณะนี้ได้มีการนำเข้าสู่ตลาดเมืองไทยในระยะหนึ่งแล้ว เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยซีดีรอมการเรียนการสอนบนเว็บ (Web-Based Learning), การเรียนออนไลน์ (On-line Learning) การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ การเรียนด้วยวีดีโอผ่านออนไลน์ เป็นต้น 
           ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า e-Learning กับการเรียน การสอน หรือการอบรม ที่ใช้เทคโนโลยีของเว็บ (Web Based Technology) ในการถ่ายทอดเนื้อหา รวมถึงเทคโนโลยีระบบการจัดการหลักสูตร (Course Management System) ในการบริหารจัดการงานสอนด้านต่าง ๆ โดยผู้เรียนที่เรียนด้วยระบบ e-Learning นี้สามารถศึกษาเนื้อหาในลักษณะออนไลน์ หรือ จากแผ่นซีดี-รอม ก็ได้ และที่สำคัญอีกส่วนคือ เนื้อหาต่าง ๆ ของ e-Learning สามารถนำเสนอโดยอาศัยเทคโนโลยีมัลติมีเดีย (Multimedia Technology) และเทคโนโลยีเชิงโต้ตอบ (Interactive Technology)
          คำว่า e-Learning นั้นมีคำที่ใช้ได้ใกล้เคียงกันอยู่หลายคำเช่น Distance Learning (การเรียนทางไกล) Computer based training (การฝึกอบรมโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ หรือเรียกย่อ ๆ ว่า CBT) online learning (การเรียนทางอินเตอร์เน็ต) เป็นต้น ดังนั้น สรุปได้ว่าความหมายของ e-Learning คือ รูปแบบของการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือสื่ออิเลคทรอนิกส์ในการถ่ายทอดเรื่องราว และเนื้อหา โดยสามารถมีสื่อในการนำเสนอบทเรียนได้ตั้งแต่ 1 สื่อขึ้นไป และการเรียนการสอนนั้นสามารถที่จะอยู่ในรูปของการสอนทางเดียว หรือการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ได้
ข้อดีและข้อเสียของนวัตกรรมการศึกษา
ข้อดี
          ประโยชน์สำหรับผู้เรียน ผู้เรียนจะได้รับประโยชน์ดังนี้
          1. ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสใช้ความสามารถของตนเองในการเรียนรู้อย่างเต็มที่
          2. ผู้เรียนมีโอกาสตัดสินใจในการเลือกเรียนตามช่องทางที่เหมาะกับความสามารถของตนเอง
          3. ทำให้กระบวนการเรียนรู้ง่ายขึ้น
          4. ผู้เรียนมีอิสระในการเลือก
          5. ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ ทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
          6. ลดเวลาในการเรียนรู้และผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้มากกว่าเดิมในเวลาเท่ากัน
          7. ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทั้งในแนวกว้างและแนวลึก
          8. ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักเสาะหาแหล่งการเรียนรู้
          9. ฝึกให้ผู้เรียน คิดเป็นและสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ 
          ประโยชน์สำหรับผู้สอน ผู้สอนจะได้ประโยชน์ดังนี้
          1. ทำให้ประสิทธิภาพของการสอนสูงขึ้น
          2. ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมได้หลากหลาย
          3. ทำให้ผู้สอนมีเวลามากขึ้น จึงใช้เวลาที่เหลือในการเตรียมการสอนได้เต็มที่
          4. ทำให้กระบวนการสอนง่ายขึ้น
          5. ลดเวลาในการสอนน้อยลง
          6. สามารถเพิ่มเนื้อหาและจุดมุ่งหมายในการสอนมากขึ้น
          7. ผู้สอนไม่ต้องใช้เวลาสอนทั้งหมดอยู่ในชั้นเรียนเพราะบทบาทส่วนหนึ่งผู้เรียนทำเอง
          8. ผู้สอนสามารถแก้ปัญหาความไม่ถนัดของตนเองได้
          9. ผู้สอนสามารถสอนผู้เรียนได้เนื้อหาที่กว้างและลึกซึ้งกว่าเดิม
          10. ง่ายในการประเมิน เพราะการใช้เทคโนโลยี มุ่งให้ผู้เรียนประเมินตนเองด้วย
          ประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา ในแง่ของการจัดการศึกษาจะได้รับประโยชน์ ดังนี้
          1. สามารถเปิดโอกาสของการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
          2. ทำให้ลดช่องว่างทางการศึกษาให้น้อยลง
          3. สามารถสร้างผู้เรียนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
          4. ทำให้การจัดการและการบริหารเป็นระบบมากขึ้น
          5. ทำให้ลดการใช้งบประมาณและสามารถใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้คุ้มค่า
          6. สามารถแก้ปัญหาทางการศึกษาได้หลายประการ
ข้อเสีย
          1. มีการแข่งขันกันสูงขึ้น ทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น
          2. ทำให้บทบาทและความสัมพันธ์ ของผู้สอนและผู้เรียนมีน้อยลง
          3. เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น อาจจะทำให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดและสติปัญญาน้อยลง



          Uraiwan Krutuktik (2553) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ไว้ดังนี้
          สื่อการสอน คือ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ รวมทั้งวิธีการสอน ซึ่งเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ ทักษะและประสบการให้กับผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของสื่อการเรียนการสอน
          ในการที่ครูจะถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนนั้นจะต้องอาศัยวิธีการหลายๆอย่าง เพราะปัจจุบันครูไม่ใช่แค่ผู้บอก ครูเพียงเป็นผู้แนะแนวทาง ที่จะให้นักเรียนได้คิดค้นด้วยตนเอง การที่ใช้รูปธรรมเข้าช่วยนั้นจะทำให้นักเรียนเข้าใจยิ่งขึ้น สื่อการเรียนการสอนนั้นมีความสำคัญดังนี้
          1. ในการสอนนั้นจะต้องให้นักเรียนได้รับประสบการณ์หลายๆด้าน สื่อการเรียนการสอนจะช่วยให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
          2. เนื่องจากนักเรียนมีความสามารถแตกต่างกัน นักเรียนบางคนใช้เพียงการอธิบายก็เข้าใจ แต่บางคนต้องให้ดูรูปภพ ดูวัสดุประกอบจึงจะเข้าใจได้
          3. เพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจและประหยัดเวลาในการสอน
          4. เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความเข้าใจแน่นแฟ้นและจำไปใช้ ได้นาน
          5. เพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีแก่นักเรียนและทำให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
          6. การที่จะทำให้นักเรียนเกิดความสนใจได้นั้น ครูควรจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการทำและใช้สื่อการเรียนการสอนนั้น ๆ
ประเภทของสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์
          เพื่อให้ครูคณิตศาสตร์ได้เลือกสื่อการสอนตามความเหมาะสมแก่สภาพท้องถิ่น สภาพโรงเรียน และเป็นไปด้วยความประหยัด สื่อการเรียนการสอนนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ซึ่ง ยุพิน พิพิธกุล (2524 : 283 - 284) ได้กล่าวถึงสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ไว้ ดังนี้
          1.วัสดุ แบ่งออกได้ดังนี้ คือ
                   ก. วัสดุประกอบการสอนประเภทสิ่งพิมพ์ ซึ่งได้แก่ แบบเรียน คู่มือครู โครงการสอน เอกสารประกอบการสอน วารสาร จุลสาร บทเรียนแบบโปรแกรม เอกสารแนะแนวทาง เป็นต้น
                   ข. วัสดุประดิษฐ์ เป็นสิ่งที่ครูทำขึ้นเอง จะใช้กระดาษ ไม้ พลาสติก และสิ่งอื่น ๆ ที่ครูประดิษฐ์ขึ้นใช้ประกอบการสอน เช่นกระดาษทำรูปทรงต่าง ๆ ทางเรขาคณิต เป็นต้นว่า รูปกรวย ปริซึม พีระมิด ชุดการสอน ภาพเขียน ภาพโปร่งใส ภาพถ่าย แผนภูมิ บัตรคำ กระเป๋าผนัง แผนภาพพลิก กระดานตะปู
                   ค. วัสดุถาวร ได้แก่ กระดานดำ กระดานนิเทศ กระดานกราฟ ของจริง ของจำลอง ของตัวอย่าง เทปบันทึกภาพ เทปเสียง โปสเตอร์ แผนที่ แผ่นเสียง ฟีล์มสตริป
                   ง. วัสดุสิ้นเปลือง ชอร์ก สไลด์ ฟีล์ม ฯลฯ
          2.อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนประเภทอุปกรณ์ที่ใช้กันมากคือ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ ซึ่งใช้กับแผ่นโปร่งใส เครื่องขยายสไลด์และฟีล์มสตริป เครื่องเสียง จอฉายภาพ ฯลฯ
          3. กิจกรรม การจัดกิจกรรมต่างๆเป็นสื่อการสอนเช่นเดียวกัน เช่น การทดลอง การจัดนิทรรศการ การเล่นละคร การเล่าเรียน การศึกษานอกสถานที่ การสาธิต การทำโครงงาน การร้องเพลง คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (กลอน กาพย์ โคลง ฯลฯ) เกมปริศนา
          4. สิ่งแวดล้อม เป็นสื่อการสอนที่หาได้ง่าย เช่น เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ครูควรแสวงหาสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรามาใช้ เพื่อเป็นการประหยัด สื่อการเรียนการสอนนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีราคาแพง แม้แต่ตัวคนหรือนักเรียนเองก็ถือว่าเป็นสื่อการเรียนการสอน นอกจากนั้น พวกประเภทของจริงก็ใช้ได้ เช่น ใช้ผลไม้มาแบ่งเพื่อสอนเรื่องเศษส่วน เป็นต้น
แนวทางการผลิตและเลือกสื่อการสอนวิชาคณิตศาสตร์
          1.ต้องผลิตสื่อตามเนื้อหาที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว โดยกำหนดเป็นหน่วยที่แยกย่อยลงไปจนถึงหนึ่งหน่วยต่อการสอน 1 ครั้ง
          2.ควรผลิตและเลือกสื่อการสอนในลักษณะที่มีสื่อมาประกอบกันเป็นชุดการสอน 1 ชุด สำหรับการสอน 1 ครั้ง โดยมีชุดอุปกรณ์ประกอบด้วย
          3.ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การสอนคณิตศาสตร์ทำไม่ได้เพียงด้วยการพูดให้ฟัง ดังนั้นจึงควรผลิตและใช้สื่อการสอนในทุกโอกาสที่จะทำได้
          4.การผลิตและเลือกสื่อการสอน ควรคำนึงถึงธรรมชาติของสื่อในการที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ รูปธรรมให้ ผู้เรียนมากที่สุด ทั้งที่เป็นสื่อที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น เมล็ดพืช ก้อนกรวด ก้อนหิน ฯลฯ และสื่อที่มีผู้ผลิตจำหน่าย เช่น ไม้บล็อก หรือภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นการเกิดรูปทรงต่าง ๆ โดยเทคนิคการสร้างภาพเคลื่อนไหวเข้าช่วย
          5.การเรียนคณิตศาสตร์ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน การฝึกฝนแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จึงเป็นกิจกรรมที่ต้องบูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสื่อการสอนคณิตศาสตร์
          6.ก่อนผลิตและเลือกสื่อการสอนคณิตศาสตร์ ครูควรได้ศึกษาวิธีการจากระบบสื่อการสอน คณิตศาสตร์ที่มีผู้คิดขึ้นแล้ว เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตสื่อ


สรุป
          จากการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลสรุปได้ว่า นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ มีหลากหลายประเภท ล้วนแต่มีความสำคัญต่อการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
          นวัตกรรมทางคณิตศาสตร์” หมายถึง ความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำ นวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์นั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม
          สื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์” คือ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ รวมทั้งวิธีการสอน ซึ่งเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้คณิตศาสตร์ ทักษะและประสบการคณิตศาสตร์ให้กับผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
          การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ มุ่งไปที่การสร้างสภาพการณ์และประสบการณ์รูปธรรม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจประสบการณ์นามธรรมดีขึ้น สื่อการสอนคณิตศาสตร์ จึงมีตั้งแต่วัสดุที่ใช้แทนจำนวนไปจนถึงสื่อที่สามารถแสดงให้เห็นกระบวนการทางคณิตศาสตร์ชั้นสูง เช่น แสดงการเกิดสมการทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ ในรูปของภาพยนตร์หรือเทปโทรทัศน์ เป็นต้น
          นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ มีความสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง เพรานักเรียนได้เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรมทำให้ได้รับประสบการณ์ตรงกับเนื้อหา นักเรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้มากยิ่งขึ้น การเลือกสื่อและนวัตกรรมที่ใช้ในการสอนควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับเนื้อหา วัยของนักเรียน ความถูกต้อง ความเที่ยงตรง 
          ตัวอย่างสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์
                             ที่มาวีดิโอ https://www.youtube.com/watch?v=xuri-25gFGY

                           ที่มาวีดิโอ  https://www.youtube.com/watch?v=Xp7BysUNBTw


ที่มา
     นิภา แย้มวจี. (2552). http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?
                NewsID=11275&Key=hotnews. [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561.
     Jutatip Deelamai. (2557). http://mamay3naja.wixsite.com/jutatip305/services1. 
                [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561.
     Uraiwan Krutuktik. (2553). http://teaching-maths3.blogspot.com/2010/07/blog-
                post_1999.html. [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561.





วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

064 Winita : วิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม (Committee Work Method)


วิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม (Committee Work Method)

ที่มาของวิธีการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          Seemalanon1212 (2013) ได้กล่าวไว้ว่า กระบวนการกลุ่มเป็นวิทยาการที่ศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มคนเพื่อนำความรู้ไปใช้ในการปรับเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรมของคน ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความสัมพันธ์และการพัฒนาการทำงานของกลุ่มคนให้มีประสิทธิภาพ
          จุดเริ่มต้นของค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ การศึกษากลุ่มคนด้านพลังกลุ่มและผู้ที่ได้เชื่อว่าเป็นบิดาของกระบวนการกลุ่มก็คือ เคิร์ท เลวิน (Kurt  Lewin) นักจิตวิทยาสังคมและนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ 1920 เป็นต้นมา และได้มีผู้นำหลักการของพลังกลุ่มไปใช้ในการพัฒนาพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม การพัฒนาบุคลิกภาพและจุดประสงค์อื่น ๆ รวมทั้งในวงการศึกษา
          ดวงเดือน เทศวานิช (2533 : 128) ได้กล่าวไว่ว่า การสอนแบบกลุ่มสัมพันธ์มีชื่อในภาษาไทยหลายชื่อ เช่น กระบวนการกลุ่ม แบ่งกลุ่ม พลังกลุ่ม พลวัตรของกลุ่ม กลศาสตร์ของกลุ่ม เป็นต้น ผู้ริเริ่มคนแรกได้แก่ เคิร์ท เลวิน (Kurt  Lewin) นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาสังคมชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาเกี่ยวกับพลังกลุ่มในแง่พฤติกรรมมนุษย์
          สำหรับในประเทศไทย ในปีพ.ศ. 2515 ทิศนา เทียนแสน ได้ทำปริญญานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต เรื่องการใช้กลุ่มสัมพันธ์ในการฝึกอบรมด้านมนุษย์สัมพันธ์สำหรับนิสิตฝึกหัดครู ต่อมา ดร.ทิศนา แขมมณี (เทียนแสน) อาจารย์ประจำภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเรื่องกลุ่มสัมพันธ์มาทดลองสอนในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท

ความหมายของวิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          นันทวรรณ แก้วโชติ (2560: 38) ได้กล่าวว่า วิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม หมายถึง วิธีจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันค้นคว้าหรือทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจในบทเรียนยิ่งขึ้น ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีเพราะได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
          ชาตรี เกิดธรรม ได้กล่าวว่า วิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม คือ การที่ครูมอบหมายให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ช่วยกันค้นคว้าแก้ปัญหา หรือปฏิบัติกิจกรรมตามความสามารถ ตามความถนัด หรือตามความสนใจ เป็นการฝึกให้นักเรียนทำงานร่วมกันตามวิธีแบบประชาธิปไตย ทุกคนจะต้องดำเนินการตามที่มอบหมายให้ เป็นวิธีที่ช่วยฝึกฝนให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง ได้เรียนรู้เพื่อนร่วมงาน แต่ต้องดำเนินการอย่างมีหลักเกณฑ์ ครูจะต้องวางแผนให้นักเรียนทุกคนในแต่ละกลุ่มปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

แนวคิดทฤษฎีกระบวนการกลุ่ม แบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          Seemalanon1212 (2013) ได้กล่าวไว้ว่า แนวคิดพื้นฐานของกระบวนการกลุ่มก็คือ แนวคิดในทฤษฎีภาคสนาม ของเคิร์ท เลวิน ที่กล่าวโดยสรุปไว้ดังนี้
          1. พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม
          2. โครงสร้างของกลุ่มจะเกิดจากการร่วมกลุ่มของบุคคลที่มีลักษณะแตกต่างกัน และจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของสมาชิกกลุ่ม
          3. การรวมกลุ่มจะเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในกลุ่มในด้านการกระทำ ความรู้สึก และความคิด
          4. สมาชิกกลุ่มจะมีการปรับตัวเข้าหากันและจะพยายามช่วยกันทำงานโดยอาศัยความสามารถของแต่ละบุคคลซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปได้ตามเป้าหมายของกลุ่ม

หลักการสอนแบบกระบวนการกลุ่ม โดยการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          Seemalanon1212 (2013) ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนแบบกระบวนการกลุ่ม คือ ประสบการณ์ทางการเรียนรู้ที่นักเรียนได้รับจากการลงมือร่วมปฏิบัติกิจกรรมเป็นกลุ่ม กลุ่มจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของแต่ละคนแต่ละคนในกลุ่มมีอิทธิพลและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน หลักการสอนโดยวิธีกระบวนการกลุ่ม มีหลักการเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน สรุปได้ดังนี้ ( คณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ สำนักงาน 2540 )
          1.เป็นการเรียนการสอนที่ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนโดยให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุด
          2.เป็นการเรียนการสอน ที่เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากกลุ่มให้มากที่สุด กลุ่มจะเป็นแหล่งความรู้สำคัญที่จะฝึกให้ผู้เกิดความรู้ความใจ และสามารถปรับตัวและเข้ากับผู้อื่นได้
          3.เป็นการสอนที่ยึดหลักการค้นพบและสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตัวเองของนักเรียนเอง โดยครูเป็นผู้จัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนพยายามค้นหา และพบคำตอบด้วยตนเอง
          4.เป็นการสอนที่ให้ความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ ว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการแสวงหาความรู้ และคำตอบต่าง ๆ ครูจะต้องให้ความสำคัญของกระบวนการต่าง ๆ ในการแสวงหาคำตอบ

          มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้กล่าวว่า หลักการใช้กระบวนการกลุ่มในชั้นเรียนที่สำคัญ ได้แก่ การสอนโดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ยึดกลุ่มเป็นแหล่งความรู้ เน้นให้นักเรียนค้นคว้าและสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง เน้นการใช้กระบวนการกลุ่ม และให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพื่อนำมาใช้ควบคู่ เชื่อมโยง ผสมผสานร่วมกับกระบวนการกลุ่ม


วัตถุประสงค์ของการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
           นันทวรรณ แก้วโชติ (2560: 38-39) ได้กล่าววัตถุประสงค์ของวิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมไว้ ดังนี้
          1. เพื่อฝึกทักษะการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งวิทยากรต่าง ๆ
          2. เพื่อฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นจนเกิดทักษะกระบวนการกลุ่ม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้
          3. เพื่อฝึกคุณลักษณะนิสัยผู้เรียน เช่น ความรับผิดชอบในการทำงาน ความมีระเบียบวินัย ความตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์ ความมีน้ำใจ
          4. เพื่อฝึกทักษะการพูด การคิด การเขียนรายงาน การวิเคราะห์ การสรุป เพื่อฝึกความกล้าในการแสดงออก 

           ขวัญชนก  โนเลี่ยม (2013) ได้กล่าววัตถุประสงค์ของวิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมไว้ ดังนี้
          1. เพื่อให้นักเรียนมีความรับผิดชอบร่วมกันในการทำงานนั่นคือส่งเสริมการทำงานเป็นทีม
          2. เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันอย่างมีระบบและมีระเบียบวินัยรู้จักทำหน้าที่
          3. เพื่อฝึกทักษะในการแก้ปัญหาการศึกษาค้นคว้าและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยปฏิบัติงานทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มและมีประสบการณ์ตรงในการทำงาน
          4. เพื่อให้นักเรียนได้ทำงานตามความสนใจ ความถนัดและความสามารถ

รูปแบบและขั้นตอนการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          Seemalanon1212 (2013) ได้กล่าวถึงรูปแบบการสอนแบบกระบวนการกลุ่ม โดยการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม มีขั้นตอนดังนี้
          1. ตั้งจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน ทั้งจุดมุ่งหมายทั่วไปและจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม
          2. การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ โดยเน้นให้ผู้เรียนลงมือประกอบกิจกรรมด้วยตนเองและมีการเพื่อทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อให้มีประสบการณ์ในการทำงานกลุ่ม ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
                   2.1 ขั้นนำ เป็นการสร้างบรรยากาศและสมาธิของผู้เรียนให้มีความพร้อมในการเรียนการสอน การจัดสถานที่ การแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย แนะนำวิธีดำเนินการสอน กติกาหรือกฎเกณฑ์การทำงาน ระยะเวลาการทำงาน
                   2.2 ขั้นสอน เป็นขั้นที่ครูลงมือสอนโดยให้นักเรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรมเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรง โดยที่กิจกรรมต่าง ๆ จะต้องคัดเลือกให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องในบทเรียน เช่นกิจกรรม เกมและเพลง บทบาทสมมติ สถานการณ์จำลอง การอภิปรายกลุ่ม เป็นต้น
                   2.3 ขั้นวิเคราะห์ เมื่อดำเนินการจัดประสบการณ์เรียนรู้แล้ว จะให้นักเรียนวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมต่าง ๆ ความสัมพันธ์กันในกลุ่ม ตลอดจนความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน โดยวิเคราะห์ประสบการณ์ที่ได้รับจาการทำงานกลุ่มให้คนอื่นได้รับรู้ เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ของกันแนะกัน ขั้นวิเคราะห์จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และมองเห็นปัญหาและวิธีการทำงานที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการทำงาน เป็นการถ่ายโอนประสบการณ์การเรียนที่ดี จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถค้นแนวคิดที่ต้องการด้วยตนเอง เป็นการขยายประสบการณ์การเรียนรู้ให้ถูกต้องเหมาะสม
                   2.4 ขั้นสรุปและนำหลักการไปประยุกต์ใช้ นักเรียนสรุป รวบรวมความคิดให้เป็นหมวดหมู่ โดยครูกระตุ้นให้แนวทางและหาข้อสรุป จากนั้นนำข้อสรุปที่ค้นพบจากเนื้อหาวิชาที่เรียนไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตนเองและนำหลักการที่ได้ไปใช้เพื่อการปรับปรุงตนเอง ประยุกต์ใช้ให้เข้ากับคนอื่นประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และดำรงชีวิตประจำวันเช่น การปรับปรุงบุคลิกภาพ เกิดความเห็นอกเห็นใจ เคารพสิทธิของผู้อื่น แก้ปัญหา ประดิษฐ์สิ่งใหม่ เป็นต้น
                   2.5 ขั้นประเมินผล เป็นการประเมินผลว่า ผู้เรียนบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายมากน้อยเพียงใด โดยจะประเมินทั้งด้านเนื้อหาวิชาและด้านกลุ่มมนุษยสัมพันธ์ ได้แก่ ประเมินด้านมนุษย์สัมพันธ์ ผลสัมฤทธิ์ของกลุ่ม เช่น ผลการทำงาน ความสามัคคี คุณธรรมหรือค่านิยมของกลุ่ม ประเมินความสัมพันธ์ในกลุ่ม จากการให้สมาชิกติชมหรือวิจารณ์แก่กันโดยปราศจากอคติ จะทำให้ผู้เรียนสามารถประเมินตนเองได้และจะทำผู้สอนเข้าใจนักเรียนได้ อันจะทำให้ผู้เรียนผู้สอนเข้าใจปัญหาซึ่งกันและกันอันจะเป็นหนทางในการนำไปพิจารณาแก้ปัญหาและจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่นักเรียน

          นันทวรรณ แก้วโชติ (2560: 39-40) ได้กล่าวว่าขั้นตอนการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม มี 3 ขั้นตอน ดังนี้
          1. ขั้นเตรียมการสอน เป็นขั้นที่ผู้สอนจัดเตรียมวางแผนการสอน โดยเตรียมหัวข้องานที่จะมอบหมายให้ทำเป็นกลุ่ม กำหนดจุดมุ่งหมาย เวลา วิธีการ ตลอดจนเตรียมสื่อการสอนและเอกสารที่ต้องใช้ในการสอน
          2. ขั้นดำเนินการสอน ประกอบด้วย
                   2.1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นจูงความสนใจของผู้เรียนเข้าสู่บทเรียน ให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมที่จะเรียนรู้ อาจใช้วิธีทวนความรู้เดิม สนทนา ซักถาม อภิปรายนำเรื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ผู้สอนควรได้แจ้งจุดประสงค์การสอน แจ้งขั้นตอนการทำกิจกรรม กำหนดเวลา และข้อตกลงอื่น ๆ ให้ผู้เรียนมีความเข้าใจตรงกันก่อนเข้ากลุ่มทำกิจกรรม
                   2.2 ขั้นสอน มีลำดับขั้นตอน ดังนี้
                             1) แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มตามจำนวนที่เหมาะสม ใช้วิธีแบ่งกลุ่มที่น่าสนใจ
                             2) ให้แต่ละกลุ่มเลือกประธาน เลขานุการ
                             3) แจกเอกสาร บัตรคำถาม หรือสื่อการเรียนที่กลุ่มจำเป็นต้องใช้ในการทำกิจกรรมกลุ่ม
                             4) ให้กลุ่มทำกิจกรรมเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด
                             5) ให้แต่ละกลุ่มทำรายงานผลของกลุ่มตามที่ผู้สอนกำหนด
                   2.3 ขั้นสรุป
                             1) ให้ผู้เรียนอภิปรายร่วมกันเพื่อสรุปความสำคัญจากการรายงานของแต่ละกลุ่ม และผู้สอนให้เสนอแนะพร้อมแนวคิดในการประยุกต์ใช้
                             2) สนทนาและซักถามประเด็นปัญหาสำคัญเพื่อการวัดผล
          3. ขั้นประเมินผล เป็นขั้นที่ผู้สอนประเมินจากการทำงานกลุ่มของผู้เรียน ว่าผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในบทเรียน เกิดเจตคติและทักษะในการทำงานกลุ่มมากน้อยเพียงใด บรรลุตามจุดประสงค์หรือไม่ ผู้สอนควรได้ประเมินพฤติกรรมของผู้เรียนในด้านต่าง ๆ ด้วย เช่น ความกระตือรือร้นในการแบ่งกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ความร่วมมือ ความรับผิดชอบ ความสนใจ ความกล้าแสดงออก ลักษณะการเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี เป็นต้น

          ชาตรี เกิดธรรม ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม ดังนี้
          1. ขั้นกำหนดความมุ่งหมาย เป็นขั้นที่กำหนดความมุ่งหมายและวิธีการทำงานอย่างละเอียด ถ้าเป็นครั้งแรกครูควรดูแลอย่างใกล้ชิด
          2. ขั้นเสนอแนะแหล่งวิทยากรที่จะใช้ค้นคว้าหาความรู้ เป็นขั้นที่ครูผู้สอนบอกรายละเอียดของหนังสือไว้ค้นคว้า
          3. ขั้นวางแผน เป็นขั้นที่นักเรียนวางแผนทำงานร่วมกัน ทำงานตามที่รับมอบหมาย
          4. ขั้นประเมินผล เป็นขั้นที่ครูสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในการร่วมมือกันทำงาน

          ขวัญชนก  โนเลี่ยม ได้กล่าวถึงขั้นตอนการสอน ดังนี้
           1. ครูและนักเรียนร่วมกันกำหนดความมุ่งหมายของการทำงานในแต่ละกลุ่มขั้นตอนนี้เป็นขั้นที่กำหนดความมุ่งหมายและวิธีการทำงานอย่างละเอียด
          2. ครูเสนอแนะแหล่งวิทยาการที่จะใช้ค้นคว้าหาความรู้ ได้แก่บอกรายละเอียดของหนังสือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
          3. นักเรียนร่วมกันวางแผนและปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย
          4. ครูและนักเรียนประเมินผลการทำงานในกรณีที่เป็นครูให้สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในการปฏิบัติงานในกรณีนักเรียนร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติงานในกลุ่มตนเองโดยบอกขั้นตอนการปฏิบัติงานผลที่ได้รับ และการพัฒนางานในโอกาสต่อไป

ขนาดของกลุ่มและการแบ่งกลุ่ม
          Seemalanon1212 (2013) ได้กล่าวไว้ว่าการแบ่งกลุ่มเพื่อให้นักเรียนปฏิบัติงานร่วมกันนั้น ผู้สอนอาจจะแบ่งกลุ่มโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การจัดการเรียนการสอน (คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ สำนักงาน 2534 : 230) เช่น
          1. แบ่งกลุ่มตามเพศ ใช้ในกรณีครูมีวัตถุประสงค์ที่ชี้เฉพาะลงไป เช่น ต้องการสำรวจความระหว่างเพศหญิงและชาย ในด้านต่าง ๆ เช่น ทัศนคติ ค่านิยม ฯลฯ
          2. แบ่งตามความสามารถ ใช้ในกรณีที่ครูมีภาระงานมอบหมายให้แต่ละกลุ่มแตกต่างไปตามความสามรถ หรือต้องการศึกษาความแตกต่างในการทำงานระหว่างกลุ่มที่มีความสามารถสูงและต่ำ
          3. แบ่งตามความถนัด โดยแบ่งกลุ่มที่มีความถนัดเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกัน
          4. แบ่งกลุ่มตามความสมัครใจ โดยให้สมาชิกเลือกเข้ากลุ่มดับคนที่ตนเองพอใจ ซึ่งครูทำได้แต่ไม่ควรใช้บ่อยนักเพราะจะทำให้นักเรียนขาดประสบการณ์ในการทำงานกับบุคคลที่หลายหลาย
          5. แบ่งกลุ่มแบบเจาะจง ครูเจาะจงให้เด็กบางคนอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น ให้เด็กเรียนเก่งกับเด็กที่เรียนอ่อนเพื่อให้เด็กเรียนเก่งช่วยเด็กที่เรียนอ่อน หรือให้เด็กปรับตัวเข้าหากัน
          6. แบ่งกลุ่มโดยการสุ่ม ไม่เป็นการเจาะจงว่าให้ใครอยู่ใครกับใคร
          7. แบ่งกลุ่มตามประสบการณ์ คือ การรวมกลุ่มโดยโดยพิจารณาเด็กที่มีประสบการณ์คล้ายคลึงกันมาอยู่ด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการช่วยกันวิเคราะห์หรือแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ

          มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้รวบรวมเทคนิคที่ใช้ในการแบ่งกลุ่ม ดังตัวอย่างต่อไปนนี้
          1. การแบ่งกลุ่มโดยการนับหมายเลข
          การแบ่งกลุ่มโดยการนับหมายเลขมีเทคนิคบางประการ เช่น นับ 1,2 ถ้านับ 1 ไปอยู่กลุ่ม 1 ถ้านับ 2 ไปอยู่กลุ่ม 2 ถ้าต้องการ 5 กลุ่ม ก็ให้นับ 1-5 เป็นต้น ซึ่งอาจดัดแปลงการนับหมายเลขเป็นการจัดกลุ่มเข้าพวก เช่น มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม (ถ้าต้องารแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม) โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย (ถ้าต้องการแบ่งเป็น 5 กลุ่ม) เป็นต้น
          2. การแบ่งกลุ่มโดยการจับฉลาก
          การแบ่งกลุ่มโดยการจับฉลาก มีลักษณะคล้ายกับการนับเลข แทนที่จะมีการขานตัวเลข หรือขานชื่อสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปเป็นเขียนในสลากแทน แล้วให้นักเรียนจับทีละคน จากนั้นครูออกคำสั่งให้พวกเดียวกันอยู่ด้วยกัน
          3. การแบ่งกลุ่มโดยใช้เพลงและเกม
          การแบ่งกลุ่มด้วยเกมและเพลง ครูอาจใช้เพลงต่าง ๆ โดยช่วยกันร้องเพลงหรือครูอาจเปิดเพลงให้นักเรียนรำวงหรือเดินตามเสียงเพลง เมื่อครูต้องการให้จับกี่คน นักเรียนก็จะลงท้ายเพลงตามเลขจำนวนนั้น
          4. การแบ่งกลุ่มโดยใช้อุปกรณ์เป็นสื่อ
          ครูอาจใช้หลักการสังเกต คือ ประสาทสัมผัสทั้ง 5 หรือประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลักในการรวมกลุ่ม ตัวอย่าง ครูเตรียมหาสิ่งของง่าย ๆ ใส่ขวด เช่น ก้อนกรวด ทราย ถั่วเขียว ลูกปัด ลูกกลมที่ทำด้วยโลหะ เป้นต้น จากนั้นแจกให้นักเรียนคนละ 1 ขวด แล้วให้นักเรียนเขย่าหาพวกที่มีเสียงเดียวกัน
          5. การแบ่งกลุ่มจากหลักคิดคณิตศาสตร์
          การแบ่งกลุ่มจากหลักคิดคณิตศาสตร์ เทคนิคนี้ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางความคิดด้านคณิตศาสตร์ เช่น ออกคำสั่งว่า 3+3 หรือ 7-1, 2 คูณ 3 หรือ 12 หาร 2 , ไก่ 1 ตัว กับแพะ 1 ตัว เป็นต้น ซึ่งปัญหาอาจจะไม่ต้องยากนัก เพราะมีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มเป็นหลัก

          Red Kh (2555) ได้กล่าวไว้ว่า ขนาดของกลุ่มจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเนื้อหาวิชา จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนและความมาก-น้อย ยาก-ง่าย ของงานที่ผู้สอนมอบหมาย กิจกรรมบางประเภทอาจใช้กลุ่มขนาดเล็ก แต่กิจกรรมบางประเภทอาจใช้กลุ่มขนาดใหญ่ ผู้สอนจึงควรพิจารณาเองว่า กลุ่มควรมีขนาดเท่าใด จึงจะเหมาะสมกับการเรียนแต่ละครั้ง โดยทั่วไปกลุ่มที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนจะมีขนาด 6-8 คน

ข้อดีและข้อจำกัดของวิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
ข้อดี
          นันทวรรณ แก้วโชติ (2560: 40) ได้กล่าวถึงข้อดีของวิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม ดังนี้
          1. ผู้เรียนได้ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ฝึกหน้าที่ ฝึกการเป็นผู้นำ ผู้ตามในกลุ่ม ฝึกการช่วยเหลือในการทำงาน ฝึกการทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกความมสามัคคี เป็นต้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต
          2. ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการคิดค้นคว้า หาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ฝึกการเขียนรายงาน และการฝึกพูดเสนอผลงานต่อที่ประชุม
          3. เป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน
          4. ผู้เรียนเรียนด้วยความกระตือรือร้น เพราะได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมตลอดเวลา
          5. วิธีนี้ผู้สอนสามารถใช้ประกอบการสอนได้ทุกวิชาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง
          6. ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีในเวลาอันจำกัด เพราะผู้เรียนได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ พึ่งพาอาศัยกัน

          ขวัญชนก  โนเลี่ยม (2013) ได้กล่าวถึงข้อดี ไว้ 2 ประการ ดังนี้
          1. นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเต็มที่
          2. นักเรียนได้ทำงานตามความถนัด ความสามารถและความสนใจของตนเอง

          Red Kh (2555) ได้กล่าวถึงข้อดีของวิธีการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม ดังนี้
          1. ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการทำงานร่วมกัน และทักษะทางสังคม
          2. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า ค้นพบความรู้ และสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง

ข้อจำกัด
          นันทวรรณ แก้วโชติ (2560: 40) ได้กล่าวถึงข้อจำกัดของวิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมว่า ถ้าผู้สอนไม่เตรียมขั้นตอนการสอน ไม่เตรียมสื่อการเรียนการสอน ไม่เตรียมงานมอบหมายมาอย่างกระจ่างแจ้ง ความสำเร็จของการสอนจะไม่บรรลุตามเป้าหมาย

          Red Kh (2555) ได้กล่าวถึงข้อจำกัดของวิธีการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม ดังนี้
          1. เป็นวิธีการที่ใช้เวลาในการเรียนรู้ค่อนข้างมาก
          2. ถ้าสมาชิกในกลุ่มขาดความเอาใจใส่ และความรับผิดชอบ จะส่งผลให้งานกลุ่ม และการเรียนรู้ไม่ประสบผลสำเร็จ
          3. เป็นวิธีที่ผู้สอนจะต้องดูแล ช่วยเหลือ เอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจึงจะได้ผลดี

การนำวิธีการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมไปใช้
          นันทวรรณ แก้วโชติ (2560: 40-41) ได้กล่าวไว้ดังนี้ การนำวิธีการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมไปใช้ ผู้สอนควรคำนึงถึงข้อต่อไปนี้ (อาภรณ์ ใจเที่ยง, 2546: 152-153)
          1. ผู้สอนต้องเตรียมการสอนและมอบหมายงานกลุ่มให้ผู้เรียนอย่างเหมาะสมกับวัย ความสามารถ และระยะเวลาในการเรียน
          2. งานที่มอบหมายควรอยู่ในขอบเขตของหลักสูตร และเสริมความรู้ความเข้าใจในบทเรียนอย่างแท้จริง
          3. ในกรณีที่มอบหมายงานที่ไม่เหมือนกันในแต่ละกลุ่ม ผู้สอนต้องกำหนดปริมาณงานและความยาก-ง่ายของงานให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
          4. ขณะที่ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่ม ผู้สอนต้องดูแลให้ผู้เรียนมีส่วนรับผิดชอบการทำงานกลุ่มทั่วทุกคน บางครั้งอาจต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนบางคนที่ไม่สนใจทำงานกลุ่ม
          5. ผู้สอนต้องเอาใจใส่ ดูแล ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ แนะนำ และย้ำระเบียบวินัยในการทำงานกลุ่ม ถ้าเกิดความวุ่นวายขณะทำงานในกลุ่ม
          6. ผู้สอนควรได้สรุปความรู้ ความคิด ประเด็นสำคัญของงานที่ผู้เรียนทำ ให้ผู้เรียนได้รับตรงกันหลังจากที่ผู้เรียนเสนอผลงานของกลุ่มแล้ว
          7. ผู้สอนควรใช้กิจกรรมกลุ่มหลาย ๆ ลักษณะ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด โดยอาจจะแบ่งกลุ่มผู้เรียนเล่นเกม ทำการทดลองแสดงบทบาทสมมติ ฝึกทักษะแข่งขันตอบปัญหา ศึกษาจากชุดการสอน แก้ปัญหาจากกรณีตัวอย่าง หรือสถานการณ์จำลอง เป็นต้น
          8. การจัดกลุ่ม จะมีสมาชิกมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย ระยะเวลาเรียน ลักษณะเนื้อหา และกิจกรรมที่จัด ขนาดของกลุ่มย่อยที่มีจำนวนสมาชิกประมาณ 4-5 คน จะเหมาะสมเพราะทุกคนในกลุ่มจะร่วมกันคิดแก้ปัญหา หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายโดยทั่วถึงกัน ทุกคนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          วรัชญา นิธิธานนท์ ได้จัดทำผลงานวิจัย เรื่อง การสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม (Committee Work Method) กับการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2551 โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา
          ผู้วิจัยได้นำแนวคิดการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมที่มีแนวคิดหลักการ คือ การทำงานร่วมมือกันเป็นหมู่คณะ ช่วยกันค้นคว้า แก้ปัญหา หรือปฏิบัติกิจกรรมตามความสามารถ ตามความถนัด หรือตามความสนใจเป็นการฝึกให้ผู้เรียนทำงานร่วมกัน ช่วยฝึกฝนให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง ได้เรียนรู้กับเพื่อนร่วมงาน มาประยุกต์ใช้กับทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนได้บรรลุผลสัมฤทธิ์และพัฒนาความสามารถให้ดีขึ้น
          กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 298 คน จัดการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กับแผนการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          ผลการวิจัยหลังจากได้ดำเนินการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกับการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่า เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ว 30203 ของกลุ่มตัวอย่าง ด้วยแบบทดสอบก่อนการเรียนและหลังการเรียนของผู้เรียนที่ได้รับการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกับการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่า การสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมทำให้ผู้เรียนมีความสามารถทางการเรียนสูงขึ้น ที่เป็นเช่นนี้ ผู้วิจัยมีความเชื่อว่า การเรียนการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกับการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง คิดเอง ปฏิบัติเอง และมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล หรือแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายจนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นจึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนที่ได้รับการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกับการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีคะแนนสูงขึ้น

สรุป
          จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสรุปได้ว่า วิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม (Committee Work Method) เป็นวิธีจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนมอบหมายงานให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันค้นคว้าแก้ปัญหา ทำกิจกรรมตามความสามารถ ตามความถนัดของตน โดยทุกคนในกลุ่มมีหน้าที่ของตนเอง และร่วมกันคิด ลงมือปฏิบัติกิจกรรม เป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี เพราะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เรียนรู้จากเพื่อนในกลุ่ม
ที่มาของวิธีการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          การสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม เป็นกระบวนการสอนแบบกลุ่ม เคิร์ท เลวิน (Kurt Lewin) ผู้ที่ได้เชื่อว่าเป็นบิดาของกระบวนการกลุ่ม เป็นนักจิตวิทยาสังคมและนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้เริ่มศึกษากระบวนการกลุ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 แล้วได้มีผู้พัฒนาต่อยอดไปเรื่อย ๆ แล้วนำไปใช้ในวงการอื่น ๆ รวมทั้งวางการศึกษาด้วย สำหรับในประเทศไทย ผู้ที่ได้ศึกษาวิธีสอน คือ ทิศนา เทียนแสน (แขมมณี) ศึกษาในปีพ.ศ. 2515 ได้ทำปริญญานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต ในการใช้กระบวนการกุ่มในการฝึกอบรมนิสิตฝึกหัดครู แล้วได้นำมาทดลองสอนกับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          1. เป็นการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
          2. ยึดกลุ่มเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ
          3. เน้นให้นักเรียนสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง พยายามค้นคว้าหาความรู้
          4. เป็นการสอนที่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ
วัตถุประสงค์ของวิธีการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          1. เพื่อฝึกการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ
          2. เพื่อฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม ความสามัคคีในกลุ่ม
          3. เพื่อฝึกคุณลักษณะนิสัยของผู้เรียน เช่น ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย
          4. เพื่อฝึกทักษะการพูด การคิด การวิเคราะห์ และฝึกความกล้าในการแสดงออก
          5. เพื่อให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมตามความสนใจ และความถนัดของตน
ขั้นตอนการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          1. ขั้นเตรียมการสอน เป็นขั้นที่ผู้สอนจัดเตรียมวางแผนการสอน
          2. ขั้นดำเนินการสอน
                    2.1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นจูงความสนใจของผู้เรียนให้เข้าสู่บทเรียน เตรียมความพร้อมในการเรียน
                    2.2 ขั้นสอน แบ่งกลุ่มผู้เรียนตามความเหมาะสม แล้วให้เลือกประธาน เลขานุการ ครูแจกเอกสารในการทำกิจกรรม เมื่อแต่ละกลุ่มทำเสร็จแล้วให้ทำรายงานผลของกลุ่มตามที่กำหนด
                    2.3 ขั้นสรุป ผู้เรียนอภิปรายร่วมกันเพื่อสรุปความสำคัญของการรายงานผลจากกิจกรรมกลุ่ม ผู้สอนให้คำแนะนำพร้อมแนวคิดเพิ่มเติม
          3. ขั้นประเมินผล เป็นขั้นที่ผู้สอนประเมินจากการทำงานกลุ่ม โดยการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน
ขนาดของกลุ่มและการแบ่งกลุ่ม
          ขนาดของกลุ่มจะมีสมาชิกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย ระยะเวลาในการทำกิจกรรม ความยากง่าย มากน้อยของเนื้อหา ขนาดกลุ่มย่อยที่มีความเหมาะสมคือ 4-6 คน เพราะทุกคนในกลุ่มจะได้ร่วมกันคิดแก้ปัญหาโดยทั่วถึงกัน วิธีการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมมีหลายเทคนิค เช่น แบ่งตามเพศ แบ่งตามความสามารถ แบ่งโดยการสุ่ม เป็นต้น
ข้อดีของวิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          ผู้เรียนได้ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ฝึกการเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี ฝึกทักษะการคิดค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตนเอง ได้ทำงานตามความถนัด ความสามารถของตน และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
ข้อจำกัดของวิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม
          ใช้เวลาในการเรียนรู้ค่อนข้างมาก ผู้สอนต้องเตรียมการสอนอย่างชัดเจน ต้องดูแล ช่วยเหลือ เอาใจใส่นักเรียนอย่างใกล้ชิด
ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำงาน
         วรัชญา นิธิธานนท์ ได้จัดทำผลงานวิจัย นำวิธีการสอนแบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมไปใช้ในการเรียนการสอนกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2551 โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ประยุกต์ใช้กับทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์และได้พัฒนาความสามารถทางการเรียนให้ดีขึ้น


ที่มา
       ขวัญชนก  โนเลี่ยม.(2013). http://innovation.kpru.ac.th/web17/551121732/innovation/
                    index.php/committee-work-method. [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561.
       ชาตรี เกิดธรรม. http://edu.vru.ac.th/sct/cheet%20downdload/2.pdf[Online] เข้าถึงเมื่อ 
                    วันที่ 1 สิงหาคม 2561.
       นันทวรรณ แก้วโชติ. (2560)เอกสารการจัดการเรียนรู้ (Learning Management).
       มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา. http://oservice.skru.ac.th/ebookft/694/chapter_7.pdf[Online] 
                    เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2561.
       วรัชญา  นิธิธานนท์. (2552). รายงานการวิจัย เรื่อง การสอนแบบแบ่งกลุ่มทำงานกับการใช้ทักษะ
                    กระบวนการทางวิทยาศาสตร์.
       Red Kh. (2555). https://www.scribd.com/document/110600877/การจัดการเรียนรู-โดย
                    กระบวนการกลุ-[Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561.
       Seemalanon1212. (2013). https://seemalanonech.wordpress.com/2013/01/16/ทฤษฎี
                    กระบวนการกลุ่ม-group-process/. [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561.


       







064 Winita : นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์           นิภา แย้มวจี (2552) ได้กล่าวถึงสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ไว้ดังนี้   สื่อการเรี...