วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

064 Winita : รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เทคนิคและวิธีสอน



รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เทคนิคและวิธีสอน

          ชัยวัฒน์ สุทธิรัตย์ (2553) ได้รวบรวม 80 การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยแบ่งออกเป็น 11 นวัตกรรม ดังนี้
1. นวัตกรรมที่เป็นแนวคิด รูปแบบ และกระบวนการจัดการเรียนรู้
          1) การจัดการเรียนรู้แบบคอนสตรัคติวิซึม (Constructivism)
          2) การจัดการเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic Instruction)
          3) การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งข้อมูลเป็นหลัก (Resource – Based Learning)
          4) การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการจิตสำนึกของเปาโล แฟร์
          5) การจัดการเรียนรู้แบบนีโอฮิวแมนนิส (Neo - Humanist)
          6) การจัดการเรียนรู้ศิลปะแบบเซอเรียลิสม์ (Surrealism)
          7) การจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีสามเกลียวแห่งเชาว์ปัญญาของมนุษย์ของ Sternberg (The Triarchic Theory of Human Intelligence)
          8) การจัดการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติ (Whole Language Approach)
          9) การจัดการเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self – Directed Learning)
          10) การจัดการเรียนรู้รูปแบบการสอนโมเดลชิปปา (CIPPA Model)
          11) การจัดการเรียนรู้แบบทักษะกระบวนการ 9 ขั้น
          12) การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการทำความกระจ่างในค่านิยม (Value Clarification) ตามแนวคิดของ ราธส์ และไซมอน
13) การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนซ์
2. นวัตกรรมวิธรการจัดการเรียนรู้ที่ใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนาและภูมิปัญญา
          14) การจัดการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ
          15) การจัดการเรียนรู้แบบไตรสิกขา
          16) การจัดการเรียนรู้แบบอริยสัจ
          17) การจัดการเรียนรู้โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom)
3. นวัตกรรมวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนเป็นกลุ่ม
          18) การจัดการเรียนรู้โดยใช้สัญญาการเรียน (Learning Contracts)
          19) การจัดการเรียนรู้แบบสตอรี่ไลน์ (Storyline Method)
          20) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
          21) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบต่อภาพ (Jigsaw)
          22) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบ CIRC
          23) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบ STAD
          24) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบ TAI
          25) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนแบบทีมแข่งขัน (TGT)
          26) การจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมแบบกลุ่ม (Group Process)
          27) การจัดการเรียนรู้โดยใช้เพื่อนช่วยสอน (Peer Tutoring)
          28) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การสอนเสริมเพื่อนต่างระดับ
          29) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การระดมสมอง (Brainstorming Technique)
          30) การจัดการเรียนรู้โดยใช้กลุ่มสร้างคุณภาพงาน (Q.C. Circles)
          31) การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคแม่แบบ (Modeling Technique)
4. นวัตกรรมวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างมโนทัศน์
          32) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การสร้างมโนทัศน์ของบรูเนอร์
          33) การจัดการเรียนรู้โดยใช้ผังกราฟิกหรือโครงสร้างความรู้ (Graphic Organizer)
          34) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การจัดกรอบมโนทัศน์ (Concept Mapping)
          35) การจัดการเรียนรู้โดยใช้แผนผังทางปัญญา (Mind Mapping)
          36) การจัดการเรียนรู้โดยใช้ Semantic Mapping
          37) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การนำเสนอมโนทัศน์กว้างล่วงหน้า (Advance Organizer)
5. นวัตกรรมวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาด้านภาษา
          38) การสอนเขียนตามแนวคิดของบรู๊คสและวิทโธร (Brookes and Withrow)
          39) การสอนแบบสนทนา
          40) การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา
          41) การสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการ (Process Writing)
          42) การสอนอ่านแบบ PANORAMA
6. นวัตกรรมวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาและพัฒนาทักษะ
          43) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential Learning)
          44) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเรียนรู้เชิงสถานการณ์ (Situated Learning)
          45) การจัดการเรียนรู้โดยใช้วงจรการเรียนรู้ (Learning Cycle Method)
          46) การจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical Method)
          47) การจัดการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์จำลอง (Simulation)
          48) การจัดการเรียนรู้โดยใช้กรณีตัวอย่าง (Cases)
          49) การจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)
          50) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Method)
          51) การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem – Based Learning)
          52) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การแก้ปัญหา (Problem – Centered Learning Model: PCLM)
          53) การจัดการเรียนรู้แบบโครงการ (Project Method)
          54) การจัดการเรียนรู้แบบปฏิบัติการหรือแบบทดลอง (Laboratory Method)
          55) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การสอนทักษะตามหลักการของ ดี เชคโก (De Cecco)
7. นวัตกรรมวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นพัฒนาสมองและการคิด
          56) การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคหมวนหกใบของเดอ โบโน (Six Thinking Hats)
          57) การจัดการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีเมตาคอกนิชัน (Metacognition)
          58) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การสอนแบบ 4 MAT
          59) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การไตร่ตรองสารนิทัศน์ (Reflective Documentation)
          60) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การคิดแบบฮิวริสติกส์ (Heuristics)
8. นวัตกรรมวิธีการจัดการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์
          61) การจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบแวนฮีลี่ (Van Hiele Model)
          62) การจัดการเรียนรู้แบบ เค ดับเบิ้ลยู ดี แอล (K – W – D - L)
          63) การจัดการเรียนรู้แบบ SSCS
9. นวัตกรรมวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ใช้กิจกรรมนันทนาการและศิลปะ
          64) การจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมนันทนาการ
          65) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การเล่นปนเรียน (Play Way Method)
          66) การจัดการเรียนรู้โดยใช้เพลง
          67) การจัดการเรียนรู้โดยใช้เกม
          68) การจัดการเรียนรู้โดยใช้การ์ตูน (Cartoon)
          69) การจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมศิลปะ
10. นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ประเภทวัสดุและสิ่งพิมพ์
          70) การจัดการเรียนรู้โดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน
          71) การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอน (Instructional Package)
          72) การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนมินิคอร์ส
          73) การจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึก
          74) การจัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อหุ่นมือ (Hand Puppet)
          75) การจัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อในชีวิตประจำวัน
          76) การจัดการเรียนรู้โดยใช้แผ่นพับ
11. นวัตกรรมวิธีการจัดการเรียนรู้ประเภทสื่อโสตทัศนูปกรณ์
          77) การจัดการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย
          78) การจัดการเรียนรู้โดยใช้เว็บช่วยสอน (Web – based Instruction)
          79) การจัดการเรียนรู้โดยใช้เว็บเควสท (Webquest)
          80) การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก

          วราภรณ์ ศรีวิโรจน์ ได้รวบรวมเทคนิคและวิธีการจัดการเรียนรู้ไว้ 14 วิธี ดังนี้
          1) การจัดการเรียนรู้แบบศูนย์กลางเรียน (Learning Center)
          2) การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integrating Method)
          3) การจัดการเรียนรู้แบบถามตอบ (Ask and Question Model)
          4) การจัดการเรียนรู้แบบการเรียนรู้เป็นคู่ (Learning Cell)
          5) การจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมในแหล่งชุมชน (The use of Community Activities)
          6) การจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน (Committee Work Method)
          7) การจัดการเรียนรู้แบบอภิปราย (Discussion Group)
          8) การจัดการเรียนรู้แบบพัฒนาความสามารถเฉพาะ (Talents Unlimited)
          9) การจัดการเรียนรู้แบบหน่วย (Unit Teaching Method)
          10) การจัดการเรียนรู้แบบบทบาทสมมติ (Role Playing)
          11) การจัดการเรียนรู้โดยเรียนจากของเล่น (Learning from Toy)
          12) การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย (Inductive Method)
          13) การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย (Deductive Method)
          14) กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ (Hand-on Activity)

          (http://a-tech.aksorn.ac.th/2014aksorn/filepdf/รูปแบบการสอนแบบต่างๆ%2054แบบ.pdf) ได้รวบรวมรูปแบบการสอนสำหรับผู้สอนมืออาชีพไว้ 16 วิธี ดังนี้
          1) การจัดการเรียนรู้แบบค้นพบ (Discovery Method)
          2) การจัดการเรียนรู้โดยการค้นหารูปแบบ (Pattern seeking)
          3) วิธีสอนแบบบรรยาย (Lecture Method)
          4) วิธีสอนแบบศึกษาด้วยตนเอง (Self-Study Method)
          5) วิธีสอนตามคาดหวัง (Expectation Method)
          6) วิธีสอนแบบโซเครติส (Socretis Method)
          7) วิธีสอนแบบประสาทสัมผัส (Method of Sense Realism)
          8) วิธีสอนแบบแฮร์บาร์ต (Herbart Method)
          9) วิธีสอนแบบกิจกรรม (Self-Activity Method)
          10) วิธีสอนแบบดัลตัน (Dalton Laboratory Plan)
          11) วิธีสอนแบบทีม (Team Teaching Method)
          12) วิธีสอนแบบจุลภาค (Micro-Teaching Method)
          13) วิธีสอนแบบสาธิต
          14) กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ แอล.ที. (L.T.)
          15) การสอนแบบเอกัตภาพ (Individualized Instruction)
          16) การสอนแบบวิธีธรรมชาติ (Natural Method)

สรุป
         จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสรุปได้ว่าการจัดการเรียนรู้ เทคนิคและวิธีสอนมีหลากหลายรูปแบบ ที่ได้รวบรวมมามี 110 รูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการสอน ขั้นตอนการสอน ข้อดี ข้อจำกัด และวิธีการนำไปใช้แตกต่างกัน มีวิธีการดำเนินการหลัก ๆ เฉพาะรูปแบบ แต่ทุกรูปแบบมีวัตถุประสงค์เหมือนกันคือเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเนื้อหาอย่างมากที่สุด ครูผู้สอนจะต้องจัดการเรียนรู้ โดยใช้เทคนิคและวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาที่สอน เหมาะกับระดับความสามารและความสนใจของเด็ก


ที่มา
        ชัยวัฒน์ สุทธิรัตย์. (2552). 80 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. 
                     กรุงเทพฯ :แดเน็กซ์ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น.
        วราภรณ์ ศรีวิโรจน์. http://edu.pbru.ac.th/e-media/08.pdf. [Online] 
                     เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561.
         http://a-tech.aksorn.ac.th/2014aksorn/filepdf/รูปแบบการสอนแบบ
                     ต่างๆ%2054แบบ.pdf. [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561.








วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

064 Winita : ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning)



ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning)

       ทิศนา  แขมมณี (2547 : 98-106) ได้รวบรวมทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ ไว้ดังนี้


        ก. ทฤษฎีการเรียนรู้
        การเรียนรู้แบบร่วมมือ คือการเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยโดยมีสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันประมาณ 3-6 คน ช่วยกันเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม นักการศึกษาคนสำคัญที่เผยแพร่แนวคิดของการเรียนรู้แบบนี้คือ สลาวิน (Slavin) เดวิด จอห์นสัน (David Johnson) และรอเจอร์ จอห์นสัน (Roger Johnson) เขากล่าวว่าในการจัดการเรียนการสอนโดยทั่วไปเรามักจะไม่ให้ความสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน ส่วนใหญ่เรามักจะมุ่งไปที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน หรือระหว่างผู้เรียนกับบทเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนเป็นมิติที่มักจะถูกละเลยหรือมองข้ามไปทั้ง ๆ ที่มีผลการวิจัยชี้ชัดเจนว่า ความรู้สึกของผู้เรียนต่อตนเอง ต่อโรงเรียน ครูและเพื่อนร่วมชั้น  
        ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน มี 3 ลักษณะคือ
               1. ลักษณะแข่งขันกัน ผู้เรียนแต่ละคนจะพยายามเรียนให้ได้ดีกว่าคนอื่น เพื่อให้ได้คะแนนดี
               2. ลักษณะต่างคนต่างเรียน แต่ละคนต่างก็รับผิดชอบดูแลตนเองให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่น
               3. ลักษณะร่วมมือกันหรือช่วยกันในการเรียนรู้ แต่ละคนต่างก็รับผิดชอบในการเรียนรู้ของตน และในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยให้สมาชิกคนอื่นเรียนรู้ด้วย
        องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
               การเรียนรู้แบบร่วมมือไม่ได้มีความหมายเพียงว่า มีการจัดให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มแล้วให้งานและบอกผู้เรียนให้ช่วยกันทำงานเท่านั้น การเรียนรู้จะเป็นแบบร่วมมือได้ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญครบ 5 ประการดังนี้
               1. การพึ่งพาและเกื้อกูลกัน (positive interdependence) สมาชิกกลุ่มทุกคนมีความ และความสำเร็จของกลุ่มขึ้นอยู่กับสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ดังนั้นแต่ละคนต้องรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตนและในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือสมาชิกคนอื่น ๆ ด้วย เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ช่วยให้ผู้เรียนมีการพึ่งพาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
               2. การปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด (face-to-face promotive interaction) การที่สมาชิกกลุ่มมีการพึ่งพาช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นปัจจัยที่เสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันในทางที่จะช่วยให้กลุ่มบรรลุเป้าหมาย สมาชิกกลุ่มจะห่วงใย ไว้วางใจ ช่วยเหลือกันในการทำงาน ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
               3. ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ของสมาชิกแต่ละคน (individual accountability) สมาชิกทุกคนจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบและพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ ไม่มีใครที่จะได้รับประโยชน์โดยไม่ทำหน้าที่ของตน ดังนั้นกลุ่มจึงจำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบผลงาน ทั้งที่เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม
               4. การใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (interpersonal and small-group skills) การเรียนรู้แบบร่วมมือจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยทักษะที่สำคัญหลายประการ เช่น ทักษะทางสังคม ทักษะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะการทำงานกลุ่ม ทักษะการสื่อสาร และทักษะการแก้ปัญหาขัดแย้ง รวมทั้งการเคารพ ยอมรับ และไว้วางใจกันและกัน
               5. การวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม (group processing) กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือจะต้องมีการวิเคราะห์กระบวนการทำงานกลุ่มเพื่อช่วยให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น การวิเคราะห์การเรียนรู้นี้อาจทำโดยครู หรือผู้เรียน หรือทั้งสองฝ่าย การวิเคราะห์กระบวนการกลุ่มนี้เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ส่งเสริมให้กลุ่มตั้งใจทำงาน เพราะสามารถที่จะประเมินการคิดและพฤติกรรมของตนที่ได้ทำไป
        ผลดีของการเรียนรู้แบบร่วมมือ การเรียนรู้แบบร่วมมือส่งผลดีต่อผู้เรียนตรงกันในด้านต่าง ๆ ดังนี้
               1. มีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายมากขึ้น (greater efforts to achieve) เป็นผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และมีผลงานมากขึ้น การเรียนรู้มีความคงทนมากขึ้น
               2. มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนดีขึ้น (more positive relationships among students) ช่วยให้ผู้เรียนมีน้ำใจนักกีฬามากขึ้น ใส่ใจในผู้อื่นมากขึ้น เห็นคุณค่าของความแตกต่าง ความหลากหลาย การประสานสัมพันธ์และการรวมกลุ่ม
               3. มีสุขภาพจิตดีขึ้น (greater psychological health) ช่วยให้ผู้เรียนมีสุขภาพจิตดีขึ้น มีความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตนเองและมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมและความสามารถในการเผชิญกับความเครียดและความผันแปรต่าง ๆ
        ประเภทของการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยทั่วไปมี 3 ประเภทคือ
               1. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างเป็นทางการ (formal cooperative learning groups) กลุ่มประเภทนี้ครูจัดขึ้นโดยการวางแผน จัดระเบียบ กฎเกณฑ์ วิธีการและเทคนิคต่าง ๆ ให้ผู้เรียนได้ร่วมมือกันเรียนรู้สาระต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และบรรลุจุดมุ่งหมายตามที่กำหนด
               2. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ (informal cooperative learning groups) กลุ่มประเภทนี้คือจัดขึ้นเฉพาะกิจเป็นครั้งคราว โดยสอดแทรกอยู่ในการสอนปกติอื่น ๆ โดยเฉพาะการสอนแบบบรรยาย
               3. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร (cooperative base groups) กลุ่มประเภทนี้เป็นกลุ่มการเรียนรู้ที่สมาชิกกลุ่มมีประสบการณ์การทำงาน สมาชิกกลุ่มมีความผูกพัน ห่วงใย ช่วยเหลือกันและกัน

         ข. การประยุกต์ใช้ทฤษฎีในการเรียนการสอน
         1. ด้านการวางแผนการจัดการเรียนการสอน
                1.1 กำหนดจุดมุ่งหมายของบทเรียนทั้งทางด้านความรู้และทักษะกระบวนการต่าง ๆ
                1.2 กำหนดขนาดของกลุ่ม กลุ่มควรมีขนาดเล็กประมาณ 3 - 6 คน
                1.3 กำหนดองค์ประกอบของกลุ่ม จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มซึ่งอาจทำโดยการสุ่มหรือการเลือกให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ โดยทั่วไปกลุ่มจะต้องประกอบไปด้วยสมาชิกที่คละกันในด้านต่าง ๆ
                1.4 กำหนดบทบาทของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและมีส่วนในการทำงานอย่างทั่วถึง ครูควรมอบหมายบทบาทหน้าที่ในการทำงานให้ทุกคน เช่น บทบาทผู้นำกลุ่ม ผู้สังเกตการณ์ เลขานุการ ผู้เสนอผลงาน ผู้ตรวจสอบผลงาน
                1.5 จัดสถานที่ให้เหมาะสมในการทำงานและมีการปฏิสัมพันธ์กัน ผู้ต้องคิดออกแบบการจัดห้องเรียนหรือสถานที่ที่ใช้ในการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการทำงานของกลุ่ม
                1.6 จัดสาระ วัสดุ หรืองานที่จะให้ผู้เรียนทำ จัดแบ่งสาระหรืองานนั้นในลักษณะที่ให้ผู้เรียนแต่ละคนมีส่วนในการช่วยกลุ่มและพึ่งพากันในการเรียนรู้
         2. ด้านการสอน ครูควรมีการเตรียมกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันดังนี้
                 2.1 อธิบายชี้แจงเกี่ยวกับงานกลุ่ม อธิบายถึงจุดหมายของบทเรียน เหตุผลในการดำเนินการต่าง ๆ รายละเอียดของงานและขั้นตอนในการทำงาน
                 2.2 อธิบายเกณฑ์การประเมินผลงาน ผู้เรียนจะต้องมีความเข้าใจตรงกันว่าความสำเร็จของงานอยู่ตรงไหน งานที่คาดหวังจะมีลักษณะอย่างไร เกณฑ์ที่จะใช้ในการวัดความสำเร็จของงานคืออะไร
                 2.3 อธิบายถึงความสำคัญและวิธีการของการพึ่งพาและเกื้อกูลกัน ครูควรอธิบายกฎเกณฑ์ ระเบียบ บทบาทหน้าที่และระบบการให้รางวัลหรือประโยชน์ที่กลุ่มจะได้รับในการร่วมมือกันเรียนรู้
                 2.4 อธิบายวิธีการช่วยเหลือกันระหว่างกลุ่ม
                 2.5 อธิบายถึงความสำคัญและวิธีการในการตรวจสอบความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย
                 2.6 ชี้แจ้งพฤติกรรมที่คาดหวัง หากครูชี้แจงให้ผู้เรียนได้รู้อย่างชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมอะไรบ้าง จะช่วยให้ผู้เรียนรู้ความคาดหวังที่มีต่อตนและพยายามจะแสดงพฤติกรรมนั้น
         3. ด้านการควบคุมกำกับและการช่วยเหลือกลุ่ม
                 3.1 ดูแลให้สมาชิกกลุ่มมีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด
                 3.2 สังเกตการณ์การทำงานร่วมกันของกลุ่ม ตรวจสอบว่าสมาชิกกลุ่มมีความเข้าใจในงานหรือบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือไม่
                 3.3 เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มตามความสามารถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานและการทำงาน เมื่อพบว่ากลุ่มต้องการความช่วยเหลือ ครูสามารถเข้าไปชี้แจงหรือให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ
                 3.4 สรุปการเรียนรู้ คู่ควรให้กลุ่มสรุปประเด็นการเรียนรู้ที่ได้จากการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อช่วยให้การเรียนรู้มีความชัดเจนขึ้น
         4. ด้านการประเมินผลและวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้
                 4.1 ประเมินผลการเรียนรู้ คู่ควรประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ โดยใช้วิธีที่หลากหลายและควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน
                4.2 วิเคราะห์กระบวนการทำงานและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ครูควรจัดให้ผู้เรียนมีเวลาในการวิเคราะห์การทำงานของกลุ่มและพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่มให้กลุ่มมีโอกาสเรียนรู้ที่จะปรับปรุงส่วนบกพร่องของกลุ่ม

         เพจโค่นข้อสอบครู โดยอาจารย์อ๊อฟ (2560) ได้กล่าวไว้ว่า แนวคิดของทฤษฎีนี้คือ การเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยโดยสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันประมาณ 3 ถึง 6 คน ช่วยการเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม โดยผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะแข่งขันกัน ต่างคนต่างเรียน และร่วมมือกันหรือช่วยกันในการเรียนรู้
การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีนี้ จะเน้นให้ผู้เรียนช่วยกันในการเรียนรู้ โดยมีกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีการพึ่งพาอาศัยกันในการเรียนรู้ มีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด มีการสัมพันธ์กัน มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม มีการวิเคราะห์กระบวนการของกลุ่ม และมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน
           การประเมินผลการเรียนรู้ ควรมีการประเมินทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ โดยวิธีการที่หลากหลายและควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน และคู่ควรจัดให้ผู้เรียนมีเวลาในการวิเคราะห์การทำงานกลุ่มและพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มมีโอกาสที่จะปรับปรุงส่วนบกพร่องของกลุ่ม

           ครูบ้านนอก.com (2552) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ ไว้ดังนี้ การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative and Collaborative Learning) เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติงานเป็นกลุ่มย่อย โดยมีสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถที่แตกต่างกัน เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพการเรียนรู้ของแต่ละคน สนับสนุนให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้นอก จากนี้ การเรียนรู้แบบร่วมมือ ยังเป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ หรือทีม ตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ สามารถปรับตัวให้อยู่กับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข 


สรุป
         จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสรุปได้ว่าทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning) เป็นการเรียนรู้โดยการแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มย่อย โดยสมาชิกในกลุ่มมีความสามารถที่แตกต่างกัน และช่วยเหลือกันในกลุ่มเพื่อให้งานของกลุ่มนั้นสำเร็จตามเป้าหมาย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนมี 3 ลักษณะคือ แข่งขันกัน ต่างคนต่างเรียน และร่วมมือกัน ซึ่งการเรียนรู้แบบร่วมมือกันจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี รวมทั้งได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม และการทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งเป้นทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
          การเรียนรู้แบบร่วมมือต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ คือ การพึ่งพาและเกื้อกูลกัน การปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ของสมาชิกแต่ละคน การใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย และการวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม การเรียนรู้แบบร่วมมือช่วยให้ผู้เรียนมีความพยายามที่จะเรียนรู้ให้สำเร็จ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น  นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมอีกด้วย

ที่มา
         ทิศนา  แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มี
                   ประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

         เพจโค่นข้อสอบครู โดยอาจารย์อ๊อฟ. (2560).
                    https://www.facebook.com/khonkhosobkru/posts/841062609385952. 
                    [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561.
         ครูบ้านนอก.com. (2552). https://www.kroobannok.com/25557. [Online] 
                    เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561.




064 Winita : ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism)



ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism)

        ทิศนา  แขมมณี (2547 : 47-48) ได้รวบรวมทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ไว้ดังนี้
        ก. ทฤษฎีการเรียนรู้
              ทฤษฎี “Constructionism” เป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานมากจากทฤษีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ (Piaget) เช่นเดียวกับทฤษฎีการสร้างความรู้ (Constructivism) ผู้พัฒนาทฤษฎีนี้คือ ศาสตราจารย์ ซีมัวร์ เพเพอร์ท (Seymour Papert) แห่งสถาบันเทคโนโลยีเมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) เพเพอร์ทได้มีโอกาสร่วมงานกับเพียเจต์และได้พัฒนาทฤษฎีนี้ขึ้นมาใช้ในวงการศึกษา
              แนวความคิดของทฤษฎีนี้คือ (สำนักงานโครงการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2542: 1-2) การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการสร้างพลังความร็ในตนเองและด้วยตนเองของผู้เรียน หากผู้เรียนมีโอกาสได้สร้างความคิดและนำความคิดของตนเอง ไปสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยอาศัยสื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะทำให้เห็นความคิดนั้นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และเมื่อผู้เรียนสร้างสิ่งใดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาในโลก ก็หมายถึงการสร้างความรู้ขึ้นในตนเองนั่นเอง ความรู้ที่ผู้เรียนสร้างขึ้นในตนเองนี้ จะมีความหมายต่อผู้เรียน จะอยู่คงทน ผู้เรียนจะไม่ลืมง่าย และจะสามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจความคิดของตนได้ดี นอกจากนั้นความรู้ที่สร้างขึ้นเองนี้ยังเป็นฐานให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ใหม่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
        ข. การประยุกต์ใช้ทฤษฎีในการเรียนการสอน
              เนื่องจากทฤษฎี “Constructionism”และ “Constructivism” มีรากฐานมาจากทฤษฎีเดียวกัน แนวคิดหลักจึงเหมือนกัน จะมีความแตกต่างไปบ้างก็ตรงรูปแบบการปฏิบัติซึ่ง “Constructionism” จะมีเอกลักษณ์ของตนในด้านการใช้สื่อ เทคโนโลยี วัสดุ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการให้ผู้เรียนสร้างสาระการเรียนรู้และผลงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพเพอร์ทและคณะวิจัยแห่ง M.I.T.  (บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์ ในวชิราวุธวิทยาลัย, 2541:1-7) ได้ออกแบบวัสดุและการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี รวมทั้งได้นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างความรู้ในการเรียนวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพเพอร์ทและคณะได้ออกแบบสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์โลโก้ขึ้น เพื่อให้เด็กใช้คณิตศาสตร์ในการสร้างรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว ดนตรี เกม ฯลฯ และได้พัฒนา “LEGO TC Logo” ซึ่งเชื่อมโยงภาษาโลโก้กับเลโก้ ซึ่งเป็นของเล่นที่มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนที่สามารถนำมาต่อกันเป็นรูปต่าง ๆ ได้ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถควบคุมเลโก้ของเล่นในคอมพิวเตอร์ให้เคลื่อนไหว เดิน ฉายแสง หรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ตามต้องการ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วยตนเองไปพร้อม ๆ กับการฝึกคิด การฝึกแก้ปัญหา และฝึกความอดทน นอกจากนั้นผู้เรียนยังเรียนรู้การบูรณาการความรู้หลาย ๆ ด้าน ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และศิลปะศาสตร์ ให้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนั้นเพเพอร์ทและคณะยังได้พัฒนาโปรแกรม “micro-worlds” “robot design” รวมทั้งสถานการณ์จำลองด้วยคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ขึ้นใช้ในการสอนอีกมาก
                อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เรียนที่ยังไม่มีสื่อดังกล่าวใช้ เพเพอร์ทกล่าวว่าสื่อธรรมชาติและวัสดุทางศิลปะส่วนมากสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างความรู้ได้ดีเช่นกัน เช่น กระดาษ กระดาษแข็ง ดินเหนียว ไม้ โลหะ พลาสติก สบู่ และของเหลือใช้ต่าง ๆ
               แม้ว่าผู้เรียนจะมีวัสดุที่เหมาะสมสำหรับการสร้างความรู้ได้ดีแล้วก็ตาม แต่ก็อาจไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ที่ดี สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญมากอีกประการหนึ่งก็คือ บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งควรมีส่วนประกอบ 3 ประการคือ
                1) เป็นบรรยากาศที่มีทางเลือกหลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกตามความสนใจ เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความชอบและความสนใจไม่เหมือนกัน การมีทางเลือกที่หลากหลายหรือเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำในสิ่งที่สนใจจะทำให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการคิด การทำ และการเรียนรู้ต่อไป
                2) เป็นสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างกันอันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ เช่น มีกลุ่มคนที่มีวัน ความถนัด ความสามารถ และประสบการณ์แตกต่างกัน ซึ่งจะเอื้อให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การสร้างสรรค์ผลงานและความรู้ รวมทั้งการพัฒนาทักษะทางสังคมด้วย
                3) เป็นบรรยากาศที่มีความเป็นมิตร เป็นกันเอง บรรยากาศที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย สบายใจ จะเอื้อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีความสุข
การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตนเองนี้จะประสบผลสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด มักขึ้นกับบทบาทครู ครูจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนให้สอดคล้องกับแนวคิด ครูจะต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่นักเรียน เกื้อหนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ในด้านการประเมินการเรียนรู้นั้นสามารถใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การประเมินตนเอง การประเมินโดยครูและเพื่อน การสังเกต การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน เป็นต้น


          อุไรวรรณ  ศรีธิวงค์ (2559) ได้กล่าวไว้ดังนี้ ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ได้รับการพัฒนาโดย Seymour Papert แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massacchusetts Institute of Technology) โดยมีรากฐานมาจากทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองของ Piaget  แนวคิดของทฤษฎีนี้ เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการสร้างพลังความรู้ในตนเองด้วยตนเองของผู้เรียน หากผู้เรียนได้รับโอกาสสร้างความคิดและนำความคิดของตนเองไปสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยอาศัยสื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะทำให้ผู้เรียนได้เห็นความคิดของตนเองเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และเมื่อผู้เรียนสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาในโลก  หมายถึงผู้เรียนได้มีการสร้างความรู้ขึ้น และเป็นความรู้ที่มีความหมายต่อผู้เรียน เป็นความรู้ที่คงทน สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจความคิดของตนได้ดี นอกจากนั้น ความรู้ที่สร้างขึ้นด้วยตนเองนี้เป็นฐานให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในลักษณะวงจรเสริมแรงภายในตัวเองของผู้เรียน
           การให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างชิ้นงานนั้น ผู้สอนจำเป็นต้องเตรียมเครื่องมือสร้างที่เหมาะสม เพื่อผู้เรียนจะสามารถนำเครื่องมือนั้น ๆ ไปใช้สร้างความรู้หรือชิ้นงานที่มีความหมายต่อตนเอง ถึงแม้ว่าผู้เรียนจะได้รับเครื่องมือชนิดเดียวกันแต่ชิ้นงานแตกต่างกันตามจินตนาการ ความคิด และความสามารถในการแก้ปัญหาของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป เป็นการส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์  อย่างไรก็ตาม การสร้างชิ้นงานของผู้เรียนจะนำไปสู่การสร้างความรู้ได้นั้น ยังขึ้นอยู่กับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมหรือบริบททางสังคม เช่น การให้ผู้เรียนได้มีทางเลือกหลายทางเลือก ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างชิ้นงานที่ตนเองสนใจ ส่งผลให้ผู้เรียนเต็มใจที่จะสร้างชิ้นงานให้สำเร็จแม้ต้องเผชิญกับปัญหาหรือความยากลำบากมากมาย ความหลากหลายในกลุ่มผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ การช่วยเหลือ การแบ่งปัน และการเรียนรู้จากกันและกัน และห้องเรียนที่มีบรรยากาศความเป็นกันเอง ช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่น และปลอดภัย ทั้งนี้เนื่องจากผู้เรียนสามารถสอบถามหรือปรึกษาเพื่อนและครูได้ตลอดเวลา


           สายใจ คุณบัวลา (2558) ได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงานไว้ว่า เป็นทฤษฎีการศึกษาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศได้เป็นอย่างดี และมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นทฤษฎีทางการศึกษาที่มีพื้นฐานและแนวคิดให้นักเรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและเหมาะสมกับนักเรียน โดยอาศัยวัสดุ สื่อ เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ชิ้นงานออกมาเป็นรูปธรรมจึงจะเกิดการเรียนรู้ ส่วนครูทำหน้าที่เป็นผู้สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ตลอดจนอำนวยความสะดวก ที่แนะ ส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการคิดและการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งผลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด


 สรุป
         จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสรุปได้ว่า ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism) มีแนวคิดว่าการเรียนรู้ที่ดีจะเกิดขึ้นได้จากการสร้างความรู้ด้วยตนเอง หากได้คิดและนำความคิดของตนไปสร้างสรรค์เป็นชิ้นงาน โดยสร้างจากการใช้สื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เหมาะสม ฝึกการคิด ฝึกการแก้ปัญหา บูรณาการความรู้ในหลาย ๆ ด้าน ก็จะทำให้ความคิดนั้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น การเรียนรู้ก็พัฒนาไปด้วย การที่ผู้เรียนนั้นเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงจะทำให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้และเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนสามารถคิดวางแผนและทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบครบองค์ความรู้ในทุก ๆ ด้าน

ที่มา
      ทิศนา  แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มี
                   ประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
      อุไรวรรณ  ศรีธิวงค์. (2559).                                      
                   http://kruoiysmarteng.blogspot.com/2016/08/constructionism-
                   seymour-papert.html. [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561.
      สายใจ คุณบัวลา. (2558). http://digital_collect.lib.buu.ac.th/dcms/files/54920989.pdf                       [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561.





064 Winita : ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism)



ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism)

          ทิศนา  แขมมณี (2547 : 90-96) ได้รวบรวมทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ไว้ดังนี้
           ก. ทฤษฎีการเรียนรู้
                    วีก็อทสกี้ (Vygotsky) เป็นนักจิตวิทยาชาวรัสเซียที่ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาในสมัยเดียวกับเพียเจต์ (Piaget) ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับกันในประเทศรัสเซีย และเริ่มเผยแพร่เข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเมื่อได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ.1962 ต่อมาในปีค.ศ. 1986 โคซูริน ได้แปลและปรับปรุงหนังสือของวีก็อทสกี้อีกครั้งหนึ่ง เป็นผลทำให้มีผู้นิยมนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนอย่างแพร่หลาย (สุรางค์ โค้วตระกูล, 2541:61)
                    ทฤษฎีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเพียเจต์และของวีก็อทสกี้เป็นรากฐานที่สำคัญของทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) เพียเจต์อธิบายว่าพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของบุคคลมีการปรับตัวผ่านทางกระบวนการซึมซาบหรือดูดซึม (assimilation) และกระบวนการปรับโครงสร้างทางปัญญา (accommodation) พัฒนาการเกิดขึ้นเมื่อบุคคลรับและทรงทราบข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่เข้าไปสัมพันธ์กับความรู้หรือโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่เดิม เพียเจต์เชื่อว่าคนทุกคนจะมีการพัฒนาเชาวน์ปัญญาไปตามลำดับขั้น จากการมีปฏิสัมพันธ์และประสบการณ์กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการคิดเชิงตรรกะและคณิตศาสตร์ (logico-mathematical experience) รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ทางสังคม (social transmission) วุฒิภาวะ (maturity) และกระบวนการพัฒนาความสมดุล (equilibration) ของบุคคลนั้น ส่วนวีก็อทสกี้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและสังคมมาก เขาอธิบายว่ามนุษย์ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกเกิด ทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคมซึ่งก็คือวัฒนธรรมที่แต่ละสังคมสร้างขึ้น ภาษายังเป็นเครื่องมือสำคัญของการคิดและการพัฒนาเชาวน์ปัญญาขั้นสูง พัฒนาการทางภาและทางความคิดของเด็กเริ่มด้วยการพัฒนาที่แยกจากกัน แต่เมื่ออายุมากขึ้น พัฒนาการทั้ง 2 ด้านจะเป็นไปร่วมกัน
                  วีก็อทสกี้ อธิบายว่า ปกติเมื่อมีการวัดพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเด็ก เรามักจะใช้แบบทดสอบมาตรฐานในการวัด เพื่อดูว่าเด็กอยู่ในระดับใด โดยดูบ้างสิ่งที่เด็กทำได้นั้นเป็นสิ่งที่เด็กในระดับอายุใดโดยทั่วไปสามารถทำได้ ดังนั้นผลการวัดจึงเป็นการบ่งบอกถึงสิ่งที่เด็กทำได้อยู่แล้ว การสอนให้สอดคล้องกับระดับพัฒนาการของเด็ก จึงเท่ากับเป็นการตอกย้ำให้เด็กอยู่ในระดับพัฒนาการเดิม ไม่ได้ช่วยให้เด็กพัฒนาขึ้น เด็กทุกคนมีระดับพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาที่ตนเป็นอยู่ และมีระดับพัฒนาการที่ตนมีศักยภาพจะไปให้ถึงช่วงห่างระหว่างระดับที่เด็กเป็นอยู่ในปัจจุบันกับระดับที่เด็กมีศักยภาพเจริญเติบโนี้เองที่เรียกว่า “zone of proximal development” ซึ่งช่วงห่างนี้จะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แนวคิดนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเกี่ยวกับการสอน ซึ่งเคยมีลักษณะเป็นเส้นตรงหรืออยู่ในแนวเดียวกัน เปลี่ยนแปลงไปอยู่ในลักษณะที่เหลื่อมกัน ด้วยการสอนจะต้องนำหน้าระดับพัฒนาการเสมอ
                   โจแนสเซน (Jonassen, 1992:138-139) กล่าวย้ำว่า ทฤษฎีการสร้างความรู้จะให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการของบุคคลในการสร้างความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์ รวมทั้งโครงสร้างทางปัญญาและความเชื่อที่ใช้ในการแปลความหมาย เหตุการณ์และสิ่งต่าง ๆ เขาเชื่อว่าคนทุกคนมีโลกของตัวเอง ซึ่งเป็นโรคที่สร้างขึ้นด้วยความคิดของตนและคงไม่มีใครกล่าวได้ว่าลูกไหนจะเป็นจริงไปกว่ากัน เพราะโลกของใครก็คงเป็นจริงสำหรับคนนั้น ดังนั้นโลกนี้จึงไม่มีความจริงเดียวที่จริงที่สุด ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มนี้ถือว่าสมองเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่เราสามารถใช้ในการแปลความหมายของปรากฏการณ์ เหตุการณ์และสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ ซึ่งการแปลความหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่เป็นส่วนตัว (personal) และเป็นเรื่องเฉพาะตัว (individualistic) เพราะการแปลความหมายของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับการรับรู้ ประสบการณ์ ความเชื่อ ความต้องการ ความสนใจ และภูมิหลังของแต่ละบุคคลซึ่งมีความแตกต่างกัน สรุปได้ว่าการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เป็นกระบวนการในการ “acting on” ไม่ใช่ “taking on” กล่าวคือ เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนจะต้องจัดกระทำกับข้อมูล ไม่ใช่เพียงรับข้อมูลเข้ามา และนอกจากกระบวนการเรียนรู้จะเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ภายในสมอง (internal mental interaction) แล้ว ยังเป็นกระบวนการทางสังคมอีกด้วย การสร้างความรู้จึงเป็นกระบวนการทั้งทางด้านสติปัญญาและสังคมควบคู่กันไป
          ข. การประยุกต์ใช้ทฤษฎีในการเรียนการสอน
                  1. ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ ผลการเรียนรู้จะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการสร้างความรู้ (process of knowledge construction) และการตระหนักรู้ในกระบวนการนั้น เป้าหมายการเรียนรู้จะต้องมาจากการปฏิบัติงานจริง (authentic tasks) ครูต้องเป็นตัวอย่างและฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เห็น ผู้เรียนจะต้องฝึกฝนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง
                  2. เป้าหมายของการสอนจะเปลี่ยนแปลงจากการถ่ายทอดความรู้ที่แน่นอนตายตัว ไปสู่การสาธิตกระบวนการแปลและสร้างความหมายที่หลากหลาย การเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ จะต้องมีประสิทธิภาพถึงขึ้นทำได้และแก้ปัญหาจริงได้ 
                  3. ในการเรียนการสอน ผู้เรียนจะเป็นผู้มีบทบาทในการเรียนรู้อย่างตื่นตัว (active) ผู้เรียนจะเป็นผู้จัดกระทำกับข้อมูลหรือประสบการณ์ต่าง ๆ และจะต้องสร้างความหมายให้กับสิ่งนั้นด้วยตนเอง โดยให้ผู้เรียนอยู่ในบริบทจริง ๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้เรียนจะต้องออกไปยังสถานที่จริงเสมอ แต่อาจจัดเป็นกิจกรรมที่เรียกว่า “physical knowledge activities” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ สิ่งของหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นของจริง และมีความสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียนโดยผู้เรียนสามารถจัดกระทำ ศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ ทดลอง ลองผิดลองถูกกับสิ่งนั้น ๆ จนเกิดเป็นความรู้ความข้าใจขึ้น
                  4. ในการจัดการเรียนการสอนครูจะต้องพยายามสร้างบรรยากาศทางสังคมจริยธรรม (sociomoral) ให้เกิดขึ้น กล่าวคือผู้เรียนต้องมีโอกาสเรียนรู้ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งทางสังคมถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างความรู้เพราะลำพังกิจกรรมกับวัสดุอุปกรณ์ทั้งหลายที่ครูจัดให้ หรือผู้เรียนแสวงหามาเพื่อการเรียนรู้ไม่เป็นการเพียงพอ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดและประสบการณ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนและบุคคลอื่น ๆ จะช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนกว้างขึ้น ซับซ้อนขึ้นและหลากหลายขึ้น
                  5. ในการเรียนการสอน ผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ โดยผู้เรียนจะนำตนเองและควบคุมตนเองในการเรียนรู้ เช่น ผู้เรียนจะเป็นผู้เลือกสิ่งที่ต้องการเรียนเอง ตั้งกฎระเบียบเอง แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเอง ตกลงกันองเมื่อเกิดความขัดแย้ง หรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เลือกผู้ร่วมงานได้เอง และรับผิดชอบในการดูแลรักษาห้องเรียนร่วมกัน
                  6. ในการเรียนการสอนแบบสร้างความรู้ ครูจะมีบทบาทแตกต่างไปจากเดิม คือ จากการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และควบคุมการเรียนรู้เปลี่ยนไปเป็นการให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวก และช่วยเหลือผู้เรียนในการเรียนรู้ คือการเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนจาก “Instruction” ไปเป็น “Construction” คือเปลี่ยนจาก “การให้ความรู้” ไปเป็น “การให้ผู้เรียนสร้างความรู้” บทบาทของครูก็คือ จะต้องทำหน้าที่ช่วยสร้างแรงจูงใจภายในให้เกิดแก่ผู้เรียนจัดตรียมกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตรงตามความสนใจของผู้เรียน ดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปในทางที่ส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียน ให้คำปรึกษาแนะนำทั้งทางวิชาการและด้านสังคมแก่ผู้เรียนดูแลให้ความช่วยเหลือผู้เรียนที่มีปัญหา และประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนนอกจากนั้นครูยังต้องมีความเป็นประชาธิปไตยและมีเหตุผลในการสัมพันธ์กับผู้เรียนด้วย
                 7. ในการประเมินผลการเรียนการสอน เนื่องจากการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองนี้ ขึ้นกับความสนใจและการสร้างความหมายที่แตกต่างกันของบุคคลผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะที่หลากหลาย ดังนั้น การประเมินผลจึงจำเป็นต้องมีลักษณะเป็น “goal free evaluation” ซึ่งหมายถึงการประเมินตามจุดหมายในลักษณะที่ยืดหยุ่นกันไปในแต่ละบุคคล หรืออาจใช้วิธีที่เรียกว่า “socially negotiated goal” และการประเมินควรใช้วิธีการหลากหลาย ซึ่งอาจเป็นการประเมินจากเพื่อน แฟ้มผลงาน (portfolio) รวมทั้งการประเมินตนเองด้วย นอกจากนั้นการวัดผลจำเป็นต้องอาศัยบริบทจริงที่มีความซับซ้อนเช่นเดียวกับการจัดการเรียนการสอนที่ต้องอาศัยบริบท กิจกรรม และงานที่เป็นจริง การวัดผลจะต้องใช้กิจกรรมหรืองานในบริบทจริงด้วย ซึ่งในกรณีที่จำเป็นต้องจำลองของจริงมาก็สามารถทำได้แต่เกณฑ์ที่ใช้ควรเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในโลกของความเป็นจริง (real world criteria) ด้วย


          เพจโค่นข้อสอบครู โดยอาจารย์อ๊อฟ (2560) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองไว้ว่า เป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการของบุคคลในการสร้างความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์ รวมทั้งโครงสร้างทางปัญญาและความเชื่อที่ใช้ในการแปลความหมายเหตุการณ์และสิ่งต่าง ๆ เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนจะต้องจัดกระทำกับข้อมูล นอกจากกระบวนการเรียนรู้จะเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ภายในสมองแล้ว อย่างเป็นกระบวนการทางสังคมด้วย การสร้างความรู้จึงเป็นกระบวนการทางทางด้านสติปัญญาและสังคมควบคู่กันไป  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีนี้ จะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการสร้างความรู้ (process of knowledge const)


          สยุมพร ศรีมุงคุณ (2555) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองไว้ว่า เป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการของบุคคลในการสร้างความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์ รวมทั้งโครงสร้างทางปัญญาและความเชื่อที่ใช้ในการแปลความหมายเหตุการณ์และสิ่งต่าง ๆ เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนจะต้องจัดกระทำกับข้อมูล นอกจากกระบวนการเรียนรู้จะเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ภายในสมองแล้ว ยังเป็นกระบวนการทางสังคมด้วย การสร้างความรู้จึงเป็นกระบวนการทั้งด้านสติปัญญาและสังคมควบคู่กันไป 
           เป้าหมายของการสอนจะเปลี่ยนจากการถ่ายทอดให้ผู้เรียนได้รับสาระความรู้ที่แน่นอนตายตัว ไปสู่การสาธิตกระบวนการแปลและสร้างความหมายที่หลากหลาย ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้จัดกระทำกับข้อมูลหรือประสบการณ์ต่าง ๆ และจะต้องสร้างความหมายให้กับสิ่งนั้นด้วยตนเอง โดยการให้ผู้เรียนอยู่ในบริบทจริง ในการจัดการเรียนการสอนครูจะต้องพยายามสร้างบรรยากาศทางสังคมจริยธรรมให้เกิดขึ้น ผู้เรียนได้มีบทบาทในการเรียนรู้อย่างเต็มที่โดยผู้เรียนจะนำตนเองและควบคุมตนเองในการเรียนรู้  
           บทบาทของครูจะเป็นผู้ให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือผู้เรียนในการเรียนรู้ การประเมินผลการเรียนรู้ตามทฤษฎีนี้มีลักษณะที่ยืดหยุ่นกันไปในแต่ละบุคคล การประเมินควรใช้วิธีการที่หลากหลาย การวัดผลจะต้องใช้กิจกรรมหรืองานในบริบทจริงด้วย แต่เกณฑ์ที่ใช้ควรเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในโลกความจริงด้วย


สรุป
          จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลสรุปได้ว่า ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) เป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการของบุคคลในการสร้างความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์ ถือว่าสมองเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแปลความหมาย ซึ่งแต่ละคนมีการแปลความหมายที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการรับรู้ ประสบกรณ์ ความเชื่อ และภูมิหลังของแต่ละคน การเรียนรู้ตามทฤษฎีนี้ผู้เรียนจะต้องจัดการกับข้อมูล ไม่ใช่แค่เพียงรับข้อมูลอย่างเดียว ต้องรู้จักคิด วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นการสร้างความรู้ให้กับตนเอง โดยการสร้างความรู้ต้องเป็นกระบวนการทั้งด้านสติปัญญาและสังคมควบคู่กัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น
           การนำไปใช้ในการเรียนการสอน ผู้เรียนจะต้องฝึกฝนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มีการสาธิตให้ผู้เรียนได้รู้จักทักษะต่าง ๆ ให้ผู้เรียนเรียนรู้จากบริบทจริง ประสบการณ์จริง ผู้เรียนจะเป็นคนนำและควบคุมตนเงอในการเรียนรู้ ส่วนครูจะต้องสร้างบรรยากาศในการเรียนให้เอื้อต่อการเรียน ให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือผู้เรียน

ที่มา
        ทิศนา  แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มี
                    ประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
        เพจโค่นข้อสอบครู โดยอาจารย์อ๊อฟ. (2560).
                     https://www.facebook.com/khonkhosobkru/posts/841062609385952. 
                     [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561.
        สยุมพร ศรีมุงคุณ. (2555). https://www.gotoknow.org/posts/341272. [Online] 
                    เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561.


064 Winita : นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์           นิภา แย้มวจี (2552) ได้กล่าวถึงสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ไว้ดังนี้   สื่อการเรี...